วันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560

GL

GL ดิ่งไม่หยุด ความโปร่งใสทางธุรกิจยังเป็นปมคาใจนักลงทุน




หุ้น GL กลับมาดำดิ่งลงต่อ (พุธ 15 มี.ค.) สะท้อนว่าคำชี้แจงจากฝั่งบริษัทฯ ในสัปดาห์นี้ ไม่สามารถคลายปมกังขาในตลาดได้ จึงยังไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา

แหล่งข่าวนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บอกกับ Money Channel ว่า จากการรับฟังคำชี้แจงของทางผู้บริหาร GL ยังคงกังขาในเรื่องความโปร่งใส เพราะแม้จะบอกว่าปัญหาดังกล่าวไม่ได้กระทบกับผลประกอบการของบริษัทฯ แต่สิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้เลยคือผู้สอบบัญชีได้ทำหมายเหตุไว้ในงบการเงินปี 2559 ไว้ถึง 3 หน้า ถือเป็นสิ่งที่ผิดปกติจากงบการเงินทั่วไปที่อาจจะมีเพียงเงื่อนไขบางประการเท่านั้น ขณะที่มีข้อสงสัยในเรื่องการเข้าซื้อกิจการในศรีลังกา คือ บริษัท Commercial Credit & Finance (CCF) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศศรีลังกา โดยปัจจุบันบริษัทฯ ถือหุ้น 29.99% ตลาดกังวลว่า GL ซื้อในราคาที่แพงเกินจริงหรือไม่? และราคาหุ้น CCF ที่ปรับตัวลดลงจะสะท้อนผลประกอบการไม่ดีหรือไม่?

อีกคำถามเกิดขึ้นด้วยว่ากลุ่มลูกหนี้ไซปรัส จะมีความสามารถเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มเติมได้จริงหรือไม่? เพราะที่ผ่านมาถูกผลกระทบราคาหุ้น GL ที่นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมีมูลค่าลดลงมาก ขณะเดียวกัน ลูกหนี้ที่กลุ่มไซปรัสนำไปปล่อยสินเชื่อในกัมพูชาประกอบธุรกิจอย่างไร เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยผู้บริหารอ้างว่าเป็นบริษัทเอสเอ็มอีที่อยู่นอกระบบการจัดเก็บภาษีของทางการกัมพูชา จึงไม่สามารถมีข้อมูลชี้แจงเป็นทางการได้ อย่างไรก็ตาม การที่ GL ยังคงนับรวมหุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ยังคงสร้างความเสี่ยงต่อเนื่อง และยิ่งทาง GL ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองเพราะยังมั่นใจในลูกหนี้กลุ่มสิงคโปร์และไซปรัส เพื่อไม่ให้กระทบต่อศักยภาพทำกำไร ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจมากขึ้น ขณะ GL ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นลักษณะธุรกิจในรูปแบบการค้ามากกว่าควบคุมคุณภาพธุรกิจด้านการเงิน

และการที่นักลงทุนจะโฟกัสไปที่สินเชื่อกลุ่มลูกหนี้สิงคโปร์และไซปรัส แต่ก็ยังเกิดข้อสงสัยเช่นกันว่าพอร์ตสินเชื่อที่เหลือทั้งหมดจะเกิดปัญหาเช่นนี้อีกหรือไม่ในอนาคต?

“วรุตม์ ศิวะศริยานนท์” กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเชีย เวลท์ บอกกับ Money Channel ว่า ภายหลังจากฟังคำชี้แจงของผู้บริหาร GL แล้วยังไม่ค่อยเชื่อมั่นเท่าที่ควร ทำให้ปรับลดคำแนะนำเป็น "ขาย" ใช้สมมติฐานที่หลักทรัพย์ค้ำประกันกลุ่มไซปรัสลดลงเหลือครอบคลุมแค่ 60% ของมูลค่าสินเชื่อจากผลกระทบของราคาหุ้น GL ที่ปรับตัวลงหนัก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราวๆ 400 ล้านบาท แม้ว่าการทำธุรกิจของ GL จะแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ที่มีความเข้มงวดมากกว่า เพราะหากมี NPL จะต้องตั้งสำรองฯ แต่ทว่าผู้บริหาร GL เองยืนยันว่าไม่ตั้งสำรองหนี้สูญ แต่ทั้งนี้ คงต้องมาจับตาว่าในวันที่ 17 มี.ค.นี้ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ จะมีข้อสรุปการเรียกสินทรัพย์เพิ่มเติมได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็คงจำเป็นต้องตั้งสำรองฯ เงินที่สูญเสียไปราวๆ 400 ล้านบาท ซึ่งจะกระทบต่อประมาณการปีนี้ 

ปัจจุบัน โบรกเกอร์รายนี้หั่นราคาพื้นฐาน GL เหลือแค่ 16 บาทเท่านั้น จากเดิมเคยให้ไว้ถึง 60 บาท อย่างไรก็ตาม ถ้าหากบริษัทฯ สามารถเรียกหลักประกันมาได้จริง หรือให้ความเชื่อมั่นได้มากกว่านี้ ก็อาจจะพิจารณาปรับเพิ่มประมาณการได้ 

ด้าน “ประกิต สิริวัฒนเกตุ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยกับ Money Channel หลังฟังคำชี้แจงของ GL เขายอมรับว่า โดยส่วนตัวยังไม่เคลียร์ในหลายประเด็นที่ทางผู้บริหารได้ให้ข้อมูล เพราะข้อเท็จจริงแล้วเมื่อไม่ตั้งสำรองก็ไม่กระทบต่อกำไร แต่การเรียกหลักทรัพย์มาค้ำประกันเพิ่มได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่กำลังติดตามในการประชุมบอร์ดปลายสัปดาห์นี้ 

นักวิเคราะห์ยังอยากทราบด้วยว่ากลุ่มลูกหนี้ในกัมพูชา ภาวะธุรกิจปัจจุบันเป็นอย่างไร และในอีกหลายเรื่องที่ยังสร้างความกังวล โดยในส่วนของกสิกรไทย เคยทำประมาณการหุ้น GL แต่ได้เลิกทำไปเมื่อไตรมาส 3 ปี 2559 เพราะราคาหุ้นสูงเกินไป โดยในช่วงนั้นหุ้น GL มีระดับ P/E ขึ้นไปถึง 30-50 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มลีสซิ่งที่อยู่ 15-20 เท่า  ขณะ Price/Book Value ขึ้นไปถึงกว่า 10 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มฯ ที่อยู่ 3-5 เท่า ดังนั้น คำแนะนำที่มีให้กับลูกค้าตอนนี้ก็คือให้ระมัดระวังอย่างสูงหากจะเข้าเก็งกำไรในหุ้น GL ในเวลานี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น