วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2559

TTA

ทริสหั่นเครดิตองค์กร TTA เหลือ BBB



30 ธ.ค. 59

 

ทริสเรทติ้ง ปรับลดเครดิตองค์กร  TTA  เป็น “BBB" จากเดิมที่ระดับ “BBB+" พร้อมลดเครดิตหุ้นกู้ลงต่ำกว่าองคืกรอีก 1ขั้น  สะท้อนถึงผลกำไรที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่อง


"ทริสเรทติ้ง" ปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ TTA หรือ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์  จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “BBB" จากเดิมที่ระดับ “BBB+" และปรับลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเป็นระดับ “BBB-" จากเดิมที่ระดับ “BBB" 
          
โดยอันดับเครดิตหุ้นกู้มีระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้น เนื่องจากอัตราส่วนหนี้ที่มีหลักประกันต่อสินทรัพย์รวมคาดว่าจะอยู่ในระดับเกินกว่า 20% อันเนื่องมาจากแผนปรับปรุงโครงสร้างเรือของบริษัท

"ทริสเรทติ้ง" ระบุว่า การปรับลดอันดับเครดิต สะท้อนถึงผลกำไรของบริษัทที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่อง และความคาดหมายว่าธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกอง และธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่ง จะยังคงอ่อนแอเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองจะลดลง จากอัตราการยกเลิกเรือสั่งใหม่และการปลดระวางเรือเก่าที่เพิ่มขึ้น แต่อุปทานกองเรือใหม่ ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากแผนการส่งมอบเรือบางส่วนถูกเลื่อนไปเป็นปี 2560 และปีหลังจากนั้น 

ในมุมมองของ “ทริสเรทติ้ง” จึงเห็นว่าภาวะอุปทานส่วนเกินน่าจะยังอยู่ต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้ค่าระวางเรือยังคงอยู่ในระดับต่ำในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง ในขณะเดียวกัน ภาวะซบเซาของธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่ง ก็อาจจะกินระยะเวลายาวนานกว่าที่คาด ขณะยังมีความไม่แน่นอนของราคาน้ำมัน และระยะเวลาที่ตลาดจะฟื้นตัวทำให้ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซทั้งหลายยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และพยายามหาโอกาสในการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ภาวะอุปทานส่วนเกินของเรือวิศวกรรมใต้ทะเลและเรือขุดเจาะจะยิ่งทำให้สภาพแวดล้อมของธุรกิจอ่อนแอลง ซึ่งจะทำให้การหาสัญญาจ้างงานใหม่ ๆ ของบริษัทมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น
          
จากแนวโน้มที่ไม่เอื้ออำนวยในธุรกิจหลักทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว จึงคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะยังอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่า งบการเงินที่เข้มแข็งและสภาพคล่องที่เพียงพอจะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้บริษัทผ่านพ้นช่วงวิกฤตขาลงนี้ไปได้

ทั้งนี้ รายได้ของ “โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์” ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 10,100 ล้านบาท ลดลง 38.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมี EBITDA อยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาท ลดลง 31.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน



SOLAR

SOLAR เผยจ่ายไฟโรงไฟฟ้าสหกรณ์ขนาด 9 MW เข้าระบบ



30 ธ.ค. 59


“โซลาร์ตรอน” เป็นอีกค่าย ที่จ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์ เข้าสู่ระบบแล้ว 

นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR เปิดเผยว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานภาคการเกษตร ที่บริษัทฯ จับสลากได้ รวมจำนวน 3 โครงการ รวมกำลังการผลิตอยู่ที่ 9 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่าโครงการรวมเกือบ 600 ล้านบาท ล่าสุดเริ่มขายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ (COD) เรียบร้อยแล้ว 

โดยทั้ง 3 โครงการ ประกอบด้วย  โครงการโซลาร์ฟาร์ม สหกรณ์โคนมบางสะพาน ขนาด 4 เมกะวัตต์ โครงการโซลาร์ฟาร์ม สหกรณ์สวนยาง บางสะพาน ขนาด 3 เมกะวัตต์ ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ลุ่มแม่น้ำน้อย จ.อ่างทอง ขนาด 2 เมกะวัตต์ 

ด้านงานติดตั้ง Solar Rooftop โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาอาคารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เฟส 1 สามารถผลิตไฟฟ้าบนหลังคาอาคารเรียนและโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้เรียบร้อยแล้ว รวมกว่า 13 อาคาร 

โครงการดังกล่าวยังมีเฟส 2 และเฟส 3 ซึ่งจะติดตั้งต่อเนื่องตลอดปี 2560 อีกด้วย 

การที่ SOLAR เป็นผู้รับงาน จัดหาแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ก่อสร้าง ออกแบบติดตั้ง เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Roof Top) ที่มีโรงงานผลิตแผ่นและแผงเซลล์แสงอาทิตย์และมีทีมงานวิศวกรรมเป็นของตัวเอง จึงมั่นใจในคุณภาพของ Solar Rooftop ทุกขั้นตอน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่อง


วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

SAWAD

SAWAD ทำเทนเดอร์ BFIT หุ้นละ 11.42 บาท


29 ธ.ค. 59


 


SAWAD  ผู้ถือหุ้นใหญ่  BFIT  เตรียมซื้อหุ้นจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม  26.51% หุ้นละ 10.50 บาท ก่อนยื่นทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดในตลาด 63.65% ในราคาหุ้นละ 11.42 บาท 

บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) (BFIT) แจ้งว่า ได้รับแจ้งความประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท (Voluntary Tender Offer) จากบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) (SAWAD) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 19,680,000 หุ้น คิดเป็น 9.84% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท 

SAWAD จะทำรายการจะซื้อจะขายหุ้นจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทในจำนวน 53,011,000 หุ้น คิดเป็น 26.51% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท ในราคาหุ้นละไม่เกิน 10.50 บาท และจะทำคำเสนอซื้อหุ้นของบริษัทในส่วนที่เหลือทั้งหมดจำนวน 127,309,000 หุ้น หรือคิดเป็น  63.65% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท ในราคาหุ้นละไม่เกิน 11.42 บาท

สำหรับการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) จะต้องได้รับการอนุมัติการทำรายการซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ SAWAD ก่อน


ด้านที่ประชุมบอร์ด SAWAD ยังได้อนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติการปรับโครงสร้างกิจการตามแผนการจัดตั้งกลุ่มธุรกิจทางการเงิน โดยการโอนธุรกิจบางส่วนของบริษัท ซึ่งได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อแบบมีหลักประกันทุกชนิด ซึ่งรวมถึงการโอนสัญญาทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่เกี่ยวข้องและที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ รวมถึงสาขาทั้งหมดและบุคลากร ที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ ให้กับบริษัทย่อย  

ทั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัท เป็นบริษัทโฮลดิ้ง โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในรอบปีบัญชี 2560  

ในรายงานระบุ บริษัทฯ จะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และ/หรือ เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินในการทำรายการดังกล่าว
บล.กสิกรไทย ระบุว่า SAWAD ยื่นทำเทนเดอร์หุ้นทั้งหมดของ BFIT ที่11.42บาท/หุ้น คิดเป็น BV ที่ 1.1เท่า  หลังจากที่ SAWAD จะเข้าทำการซื้อหุ้นจำนวน 53.11ล้านหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่ราคา 10.50บาท (1.01เท่า BV) มีมุมมองเป็นบวกต่อข่าวนี้

เนื่องจาก SAWAD  จะสามารถเพิ่มความหลากหลายของประเภทสินเชื่อได้ โดยเฉพาะสินเชื่อ SME และสินเชิ่อส่วนบุคคล โดยพอร์ตหลักของ BFIT เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 75% และที่เหลือเป็นสินเชื่อ SMEs 

อีกทั้งจะมีต้นทุนการเงินที่ต่ำลงและมีแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้นจากฐานเงินฝาก3.2พันลบ ของ BFIT ซึ่ง ต้นทุนเงินทุนอยู่ที่ราว 2.2%ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนของ SAWAD ที่ 3.4% ค่อนข้างมาก เนื่องจาก BFIT เป็นสถาบันการเงินที่สามารถรับเงินฝากได้ 

รวมทั้งลดความเสี่ยงทางด้านธุรกิจของ SAWAD เนื่องจาก BFIT อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่แล้ว โดยคาดว่าเมื่อการควบรวมเสร็จแล้วจะเพิ่มกำไรให้ SAWAD ได้ประมาณ 5% และ จะเพิ่มอัพไซด์ต่อราคาเป้าหมายปัจจุบันได้ที่ราว 3 บาท  

วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

POLAR

POLAR ซื้อ a day ทุ่มกว่า 300ล.-ถือ-70%



28 ธ.ค. 59



 


POLAR ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ทุ่มกว่า 300 ล้านบาท ซื้อหุ้น "เดย์ โพเอทส์ " เจ้าของ a day เข้าถือหุ้น 70% เคาะราคาซื้อเฉลี่ยหุ้นละ 630 บาท คาดหวังผลตอบแทนปันผลจากกำไรสะสม

บมจ.โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR แจ้งว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัทเดย์ โพเอทส์ จำกัด จำนวน 490,000 หุ้น คิดเป็น 70%  ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว จากบริษัท ไทยฟู้ด โลจิสติกส์ จำกัด ในจำนวน 245,000 หุ้น และ จากบริษัท ธนวรินทร์ จำกัด ในจำนวน 245,000 หุ้น ในราคารวม 308,700,000 บาท หรือเท่ากับ 630 บาทต่อหุ้น 

โดยบริษัทจะสามารถรับรู้รายได้และผลกำไรจากการประกอบกิจการของ บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ได้ทันที อีกทั้งบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ยังมีกำไรสะสมที่สามารถนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่บริษัทฯ ได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะเวลาอันใกล้
          
ทั้งนี้คณะกรรมการ บริษัทมีความเห็นว่าการเข้าทำรายการดังกล่าวมีความสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ อีกทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและมีการแข่งขันสูงซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาโครงการนานกว่าที่จะสามารถรับรู้รายได้จากการประกอบกิจการได้
          
นอกจากนี้ บริษัทมีกำหนดระยะเวลาในการทำรายการเข้าลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ภายในเดือนมีนาคม 2560



IFEC

IFEC ยังไม่แจงผิดนัดจ่ายหนี้ B/E แขวน SP รอบบ่าย


28 ธ.ค. 59

 


ตลท.ขึ้น SP หุ้น  IFEC รอบบ่าย หลังบริษัทยังไม่ชี้แจงการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน B/E

ตลาดหลักทรัพย์ฯ แจ้งว่า ตามที่ได้ขึ้นเครื่องหมาย H หลักทรัพย์ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่  คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  IFEC  สำหรับการซื้อขายในรอบเช้าของวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา เนื่องจากยังคงไม่ได้รับการชี้แจงเรื่องการชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน (B/E) จากบริษัท
ซึ่งสารสนเทศดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท และการตัดสินใจในการลงทุนของผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ IFEC 

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงยังคงหยุดพักการซื้อขาย SP หลักทรัพย์ IFEC ตั้งแต่รอบบ่ายของวันที่ 28 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับคำชี้แจงจากบริษัท

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

WHA

WHA มั่นใจ Q4 ทำรายได้สูงสุดเข้าเป้า 1.7หมื่นลบ


26 ธ.ค. 59

 

บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ผู้พัฒนาและให้เช่าโครงการคลังสินค้า เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 4/59 จะเติบโตอย่างโดดเด่น และดีสุดในปีนี้ ซึ่งมาจากการรับรู้รายได้จากการเสนอขายทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ 2 กอง และการรับรู้รายได้จากการร่วมทุนกับกลุ่ม Daiwa House  หนุนให้รายได้ทั้งปี เป็นไปตามเป้าที่ 17,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 13,102 ล้านบาทในปีที่แล้ว 

AOT

AOT ต้นปีหน้าแตกพาร์เหลือบาทเดียว

 26 ธ.ค. 59



 

หุ้น AOT ราคาขยับขึ้นพร้อมวอลุ่มหนาแน่น หลังเช้านี้โบรกเกอร์ให้คำแนะนำซื้อ คาดประชุมผู้ถือหุ้น  27 ม.ค.60 อนุมัติผ่านฉลุยแตกพาร์เหลือ 1 บาท จากเดิม 10 บาท

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คาดว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้น AOT วันที่ 27 ม.ค.60 จะอนุมัติให้บริษัทแตกพาร์จาก 10 บาทเป็น 1 บาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขาย 

ฝ่ายวิจัยมีมุมมองที่เป็นบวกกับแนวโน้มผลประกอบการบริษัทในระยะกลาง-ยาว โดยมองว่าธุรกิจมีความมั่นคงสูงเพราะเป็นผู้ประกอบการสนามบินรายเดียวของไทย และมีการขยายกำลังการให้บริการคอขวด ขยายบริการสนามบินดอนเมือง & สนามบินอื่นๆ รวมทั้งอยู่ระหว่างก่อสร้างสุวรรรณภูมิเฟส 2 ซึ่งจะทำให้มีกำลังการให้บริการเพิ่มขึ้นอีกมากในระยะยาว 

ขณะที่ผลกระทบจากเหตุการณ์บ้านเมืองและจัดการทัวร์ศูนย์เหรียญค่อยๆ คลี่คลายลง คาดการณ์ว่าผลประกอบการปี 60 (สิ้นสุดก.ย.60) จะเติบโตได้ราว 15% ซึ่งดีขึ้นจากงวดปี 59 (สิ้นสุดก.ย.59) ที่เพิ่มขึ้น 4.5% แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 455 บาท (พาร์ 10 บาท)

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2559

BIG

BIG กำไรพุ่ง Q3 ทะลุ 100ล.-ปันผล 0.07 บ.


23 ธ.ค. 59

 

BIG ไตรมาส 3 พลิกมีกำไรทะลุ 125 ล้าน จาก Q3/58 ที่มีผลขาดทุน หลังปรับโครงสร้างบริหารงานดันกำไรขั้นต้นโตถึง 39%  โชว์กำไรรวม 9 เดือนกว่า 500 ล้านบาท พร้อมประกาศปันผลครึ่งปีแรกหุ้นละ 0.07 บาท 

บมจ.บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น ( BIG) แจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 3/59 มีกำไรสุทธิ 125.73 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.04 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 2.54 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.0007 บาท

ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2559 มีกำไรสุทธิ 546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 285 ล้านบาท หรือ 109% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 261 ล้านบาท

BIG ชี้แจงว่า จากการปรับโครงสร้างกลุ่มกิจการโดยการรับโอนธุรกิจจากบริษัทย่อยซึ่งได้ดําเนินการแล้วเสร็จในระหว่างเดือนมีนาคม 2559 ส่งผลให้บริษัทเปลี่ยนสภาพจากบริษัทที่ลงทุนในบริษัทอื่นเป็นการดําเนินธุรกิจในรูปแบบการขายปลีกอุปกรณ์ถ่ายภาพและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีสาขารวมกว่า 250 สาขาทั่วประเทศไทย และเป็ นเพียงบริษัทที่ดําเนินธุรกิจเพียงแห่งเดียวโดยที่ไม่มีบริษัทย่อยอีกต่อไป ส่งผลให้ผลการดําเนินงานเฉพาะของบริษัทฯในปี 2559 แตกต่างจากปี 2558 อย่างชัดเจน 

ในปี 2559 บริษัทใช้นโยบายเชิงรุกในการประกอบธุรกิจโดยได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานต่างๆให้สอดรับกัน  จึงทําให้รายได้รวมปีนี้ของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึง 23% โดยรายได้หลักของบริษัทยังคงเป็นรายได้จากการขายสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์ถ่ายภาพ และในขณะเดียวกันก็ได้ดําเนินการในการบริหารจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทําให้บริษัทมีกําไรขั้นต้นสูงขึ้นถึง 39.81% 

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทยังมีมติจ่ายปันผลเป็นเงินสดสำหรับงวดผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ในอัตรา 0.07 บาท/หุ้น โดยกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผลวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 และจ่ายปันผลวันที่ 1 ธันวาคม 2559
          
BIG ยังระบุถึง แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/59 คาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/59 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากไลน์อัพสินค้าใหม่ของทุกๆค่ายกล้องถ่ายภาพยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Fuji, Olympus, Sony, Panasonic ได้ทยอยเปิดตัวสินค้า และจะพร้อมวางจำหน่ายในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ

หุ้น BIG ปิดตลาดภาคเช้าที่ 4.84 บาท ลดลง 0.08 บาท หรือ 1.69%

 

CPF

CPF ปิดดีลซื้อเบลลิซิโอ มูลค่า 1.07 พันล้านดอลล์

23 ธ.ค. 59
 

 


CPF  เดินตามแผนเข้าซื้อกิจการเบลลิซิโอ ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอาหารแช่แเข็งในสหรัฐ มูลค่า 1.07 พันล้านดอลล์ คิดเป็นเงินไทยราว 3.8 หมื่นล้านบาท

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ประกาศว่าได้ทำการเข้าซื้อกิจการของบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ (Bellisio) จากบริษัท เซ็นเตอร์ พาร์เนอร์ เมเนจเม้นท์ แอลแอลซี (Centre Partners) ตามเงื่อนไขที่ได้รับการเห็นชอบแล้วจากคณะกรรมาธิการการค้า และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา (the Federal Trade Commission and Department of Justice of the United States) โดย ซีพีเอฟ ได้ทำการซื้อหุ้น 100% ในบริษัท เบลลิซิโอ ด้วยมูลค่ารวม 1.075 พันล้านเหรียญสหรัฐ 

การควบรวมกิจการในครั้งนี้ เป็นการรวมกันระหว่างบริษัทอาหารแช่แข็งที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดของสหรัฐฯ กับบริษัทผู้ผลิตอาหารครบวงจรชั้นนำที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของประเทศไทย เบลลิซิโอ เป็นผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอาหารแช่แข็งแบบ single serve ภายใต้ตราสินค้า มิชิลิน่าส์ (Michelina’s), แอทคินส์ (Atkins), บอสตัน มาร์เก็ต(Boston Market), ชิลีส์ (Chili’s), อีทติ้งเวล (EatingWell), และ อีท (Eat!) ขณะเดียวกันยังเป็นผู้ผลิตร่วมสินค้าภายใต้ แบรนด์ของลูกค้า (private label) และผู้ประกอบการธุรกิจอาหารต่างๆ 

ขณะที่ ซีพีเอฟ เป็นผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค ที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องของโภชนาการอาหารปลอดภัย โดยธุรกิจของบริษัทครอบคลุมฟาร์มปศุสัตว์ (หมู, ไก่เนื้อ, ไก่ไข่ และเป็ด) สัตว์น้ำ (กุ้งและปลา) นอกจากนี้ยังทำธุรกิจครบวงจรที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารสัตว์, พันธุ์สัตว์, ฟาร์มปศุสัตว์, การแปรรูปเนื้อสัตว์, อาหารกึ่งสำเร็จรูป และเนื้อสัตว์ปรุงสำเร็จ, ผลิตภัณฑ์อาหาร, อาหารพร้อมรับประทาน และยังรวมถึงเนื้อสัตว์, การส่งสินค้าให้กับผู้ค้าปลีกและผู้ประกอบการภัตตาคารอาหาร  

มร.โจแอล คอนเนอร์  ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเบลลิซิโอ กล่าวว่า การซื้อกิจการในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า ซีพีเอฟ ได้ก้าวผ่านขึ้นมาเป็นผู้นำที่ใหญ่ที่สุดในการตลาดอาหารของโลก ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของบริษัทในการเดินหน้าสู่เป้าหมายธุรกิจสู่การเป็น “ครัวของโลก” อย่างไม่หยุดยั้ง 

ทั้งนี้ ทีมบริหารเบลลิซิโอและพนักงานในปัจจุบันจะยังคงปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของตนเองต่อไป และขอยืนยันกับลูกค้าและซัพพลายเออร์ทุกรายว่า ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม โดยเมืองมินนิอาโพลิสจะยังคงเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่บริหารจัดการธุรกิจในทุกภูมิภาคด้วย

CPF ได้แจ้งตลท. ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2559 ว่า จะเข้าซื้อกิจการ Bellisio Parent, LLC  ในราคารวม 1,075 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่าประมาณ 38,161 ล้านบาท พร้อมระบุแหล่งที่มาของเงินทุนในการซื้อกิจการ มาจากกระแสเงินสดภายในกิจการ และคาดว่าดีลซื้อจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 180 วัน นับจากลงนามใน Securities Purchase Agreement (SPA)

 

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

AU

หุ้นอาฟเตอร์ ยู เข้าเทรดตลาด mai พรุ่งนี้
22 ธ.ค. 59


 

บมจ.อาฟเตอร์ ยู   ในชื่อย่อ AU ผู้ดำเนินธุรกิจร้านขนมหวาน เข้าเทรดตลาด mai พรุ่งนี้ (23 ธ.ค.) ในราคา IPO หุ้นละ  4.50 บาท

นายแม่ทัพ ต.สุวรรณ กรรมการผู้จัดการบมจ.อาฟเตอร์ ยู   หรือ 'AU'   เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เป็นวันแรกในวันที่ 23 ธ.ค.นี้โดยใช้ชื่อย่อ 'AU' ในการซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์ และมั่นใจว่าหุ้น AU จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน ที่เชื่อมั่นใจในศักยภาพการดำเนินธุรกิจและแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต หลังจากก่อนหน้านี้ได้เสนอขายหุ้น IPO จำนวนทั้งสิ้น 165ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.10 บาท ให้แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปจองซื้อ ในราคาหุ้นละ 4.50 บาท เมื่อวันที่14-16 ธ.ค.ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด 
          
ทั้งนี้ บมจ.อาฟเตอร์ ยู ดำเนินธุรกิจ 2 ส่วน คือ ธุรกิจร้านขนมหวานภายใต้เครื่องหมายการค้า 'อาฟเตอร์ ยู' และ 'เมโกริ'ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายน้ำแข็งไสที่เหมาะกับประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน และธุรกิจรับบริการจัดงานนอกสถานที่ อาทิ งานเลี้ยงสังสรรค์ งานแต่งงาน และการรับจ้างผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ ให้แก่สายการบินหรือร้านอาหาร 

โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายสาขาร้านขนมหวานเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน ที่มีร้านอาฟเตอร์ ยูและเมโกริ รวม 20 สาขา เป็น 30 สาขาภายในปี 2561โดยเน้นพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งในการขยายสาขาจะต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 1-2 ปี ขึ้นกับที่ตั้ง ขนาดพื้นที่และกำลังซื้อ รวมทั้งจะขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าให้แก่พันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้น
       
"หลังจากเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ แล้ว จะส่งผลให้บริษัทฯ มีความพร้อมในด้านเงินทุนเพิ่มขึ้น โดยเรามีความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจขนมหวานและเบเกอรี่ครบวงจร ทั้งการขยายสาขาในกรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด" นายแม่ทัพ กล่าว
          
นางสาวกุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.อาฟเตอร์ ยู กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจกว่า 9 ปี ได้มุ่งเน้นสร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์และบริการจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทั้งการให้ความสำคัญกับรสชาติผลิตภัณฑ์ การบริการ การสร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค การรักษาและขยายฐานลูกค้า ทำเลที่ตั้ง ตลอดจนการทำตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้อาฟเตอร์ ยู เป็นร้านขนมหวานในใจผู้บริโภค 
          
ปัจจุบัน อาฟเตอร์ ยู มีเมนูของหวานและเครื่องดื่มให้บริการกว่า 100 รายการ รวมถึงมีสินค้าของที่ระลึก เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคตั้งแต่เด็กนักเรียนจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ โดยมีเมนูที่ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค อาทิ กลุ่มฮันนี่โทส ช็อกโกแลตลาวา คากิโกริ นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการปรุงจากครัวกลางเพื่อจัดส่งไปยังร้านขนมหวานสาขาต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
          
ผลการดำเนินงานของ บมจ.อาฟเตอร์ ยู ในปี 2556-2558 มีรายได้รวม 188.9 ล้านบาท 311.6 ล้านบาท และ 414.9 ล้านบาทตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 5.6 ล้านบาท 45.8 ล้านบาท และ 57.5 ล้านบาทตามลำดับ 

ส่วนในงวด 9 เดือนแรกที่ผ่านมา (ม.ค. - ก.ย. 2559) มีรายได้รวม 440.9 ล้านบาท เติบโต 54.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 286.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 37.2 ล้านบาท

 

 

 

 

 

TISCO

สแตนชาร์ด สู้ต่อไม่ไหว ขายธุรกิจลูกค้ารายย่อยให้ ทิสโก้
 22 ธ.ค. 59
 

"สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด"  ทำข้อตกลงขายและโอนธุรกิจลูกค้ารายย่อยให้ กลุ่ม "ทิสโก้ ไฟแนนเชียล"  มูลค่าสินทรัพย์  5.5 พันล้านบาท พร้อมยอมรับแข่งขันกับแบงก์ใหญ่ในไทยไม่ไหว คาดปิดดีลถ่ายโอนธุรกิจแล้วเสร็จในปี 60

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)  บรรลุข้อตกลงในการถ่ายโอนธุรกิจลูกค้ารายย่อย (Retail Banking)  ให้แก่ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) และบริษัทออล-เวย์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยภายใต้ บริษัท ทิสโก้ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 

โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว มีการขายและโอนธุรกิจลูกค้ารายย่อย ซึ่งครอบคลุมถึง ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อธุรกิจรายย่อย บริการธนบดีธนกิจ (Wealth Management) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ และเงินฝากรายย่อย ให้แก่ทิสโก้ โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี  2560 ขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล โดยธนาคารฯ ทั้งสองจะร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การถ่ายโอนธุรกิจเป็นไปอย่างสะดวกที่สุดสำหรับลูกค้า

สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ระบุว่า ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ธุรกิจสถาบันธนกิจ (Corporate and Institutional Banking) และพาณิชย์ธนกิจ (Commercial Banking) ที่มีเครือข่ายแข็งแกร่งและจุดเด่นด้านประสบการณ์การค้าระหว่างประเทศที่จะสามารถสนับสนุนลูกค้าในการทำธุรกิจในประเทศไทยและระหว่างประเทศ 

ส่วนการตัดสินใจครั้งนี้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจทั่วโลกของกลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดที่ได้ประกาศไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่จะทบทวนแนวทางการดำเนินธุรกิจและปรับโครงสร้าง เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและเพิ่มผลตอบแทน ซึ่งรวมถึงการถ่ายโอนธุรกิจที่มีขนาดและขีดความสามารถทางการแข่งขันไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ 

สำหรับ กลุ่มธุรกิจการเงินทิสโก้ ข้อตกลงทางธุรกิจในครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในการเสริมความแข็งแกร่งด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อย 

“ในส่วนของธุรกิจธนาคารบุคคลธนกิจ (ลูกค้ารายย่อย - Retail Banking) ถึงแม้ว่าการดำเนินงานจะเป็นไปด้วยดี แต่มีขนาดของธุรกิจที่เล็กและยากที่จะแข่งขันกับธนาคารรายใหญ่ภายในประเทศ ภายหลังจากการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้ว ธนาคารฯ จึงได้บรรลุข้อตกลงในการโอนธุรกิจธนาคารบุคคลธนกิจให้แก่ทิสโก้

นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ธนาคารทิสโก้และบริษัทออล-เวย์สบริษัทย่อยในกลุ่มได้ตกลงซื้อขายธุรกิจลูกค้ารายย่อยจากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ในมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 5,500 ล้านบาท ประกอบด้วย ยอดสินทรัพย์ประมาณ 41,600 ล้านบาท และสินเชื่อประมาณ 36,100 ล้านบาท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งธุรกิจลูกค้ารายย่อย
          
ทั้งนี้ ธนาคารทิสโก้รับโอนธุรกิจสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเพื่อการเคหะ สินเชื่อธุรกิจบริหารความมั่งคั่งและเงินฝากบุคคล บริษัทออล-เวย์ส รับโอนธุรกิจบัตรเครดิต โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2560