วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

NOK

นกแอร์-แอร์เอเชีย เก็บภาษีน้ำมันเที่ยวละ 150 บ.

 

สายการบินแอร์เอเชีย สายการบินนกแอร์ ประกาศเก็บภาษีน้ำมันอัตรา 150 บาท/เที่ยว หลังครม.เห็นชอบขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินและน้ำมันหล่อลื่น มีผลตั้งแต่ 1 และ 6 ก.พ.นี้

บมจ. สายการบินนกแอร์ (NOK)  ซึ่งเปิดให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศไทย ประกาศเก็บภาษีสรรพสามิต (น้ำมัน) ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในอัตรา 150 บาท/ท่าน/เที่ยวบิน สำหรับเส้นทางบินภายในประเทศ ซึ่งจะรวมอยู่ในค่าโดยสารที่แสดงทางหน้าเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.60 เป็นต้นไป          
          

สายการบินไทยแอร์เอเชีย (เที่ยวบินรหัส FD) ประกาศบวกเพิ่มค่าภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ในอัตรา 150 บาท/ท่าน/เที่ยวบิน สำหรับเส้นทางบินภายในประเทศ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.60 เป็นต้นไป 
         
เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอให้ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินและน้ำมันหล่อลื่น โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.60

SAWAD

SAWAD ออกหุ้นกู้ 4 พันลบ.-ขายสถาบัน

 

SAWAD เตรียมออกหุ้นกู้ 4 พันล้านบาท อายุ 2-4 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 3.45-4.40% ขายนักลงทุนสถาบัน เปิดจองซื้อ 31 ม.ค.-2 ก.พ. 60 ระดมทุนจ่ายหนี้และัปล่อยสินเชื่อ

บมจ.ศรีสวัสดิ์ เพาเวอร์ 1979 (SAWAD) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัท  จำนวนไม่เกิน 4,000 ล้านบาท  และจำนวนหุ้นกู้สำรองเพิ่มเติมไม่เกิน 1,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ชุด 
          
ชุดที่ 1 เสนอขายจำนวนไม่เกิน 500 ล้านบาท อายุ 2 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2562 อัตราดอกเบี้ยคงทื่ร้อยละ 3.45 ต่อปี 

ชุดที่ 2 เสนอขายจำนวนไม่เกิน 1,500 ล้านบาท อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2563 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.00 ต่อปี 

ชุดที่ 3 เสนอขายจำนวนไมเกิน 2,000 ล้านบาท อายุ  4 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2564 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.40 ต่อปี 
          
ทั้งหมดนี้เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ระยะเวลาจองซื้อระหว่างวันที่ 31 ม.ค. - 2 ก.พ. 60 โดยมีผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้คือ ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย บล.โกลเบล็ก และ บล.เอเซีย พลัส 
          
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท "BBB" แนวโน้มเครดิต "ไม่ชัดเจน" เมื่อวันที่ 6 ม.ค.60  
          
ทั้งนี้บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้เพื่อชำระคืนหนี้เดิม ปล่อยสินเชื่อ และ/หรือ เพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการ

BAY

BAY ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 6-8%

 

BAY มองเป้าสินเชื่อปีนี้โต 6-8% หลังคาดGDP ปีนี้โต 3.3%  จากปัจจัยหลักการเร่งการลงทุนของภาครัฐ

นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) กล่าวว่า กรุงศรีคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2560 จะเติบโตที่ 3.3% จากการเร่งการลงทุนของภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต รวมทั้งการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน ภาระหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้น และภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่ง 

ในปี 2560 ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อเติบโตที่ 6-8% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ประมาณ 3.7% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยคาดว่าจะเติบโตสูงกว่า 5% และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่ระดับต่ำกว่า 2.5%

ทั้งนี้การผนึกกำลังระหว่างความเชี่ยวชาญในประเทศของกรุงศรีและศักยภาพเครือข่ายระดับโลกของ MUFG ได้เสริมความแข็งแกร่งให้กรุงศรีในการกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยกรุงศรีตั้งเป้าเป็นธนาคารชั้นนำในกลุ่มลูกค้าธุรกิจ และรักษาความเป็นผู้นำในกลุ่มลูกค้าธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น

นอกจากนี้ กรุงศรียังมุ่งที่จะเป็นหนึ่งในธนาคารหลัก สำหรับลูกค้ากลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยไม่เพียงแต่การสนับสนุนทางการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้คำปรึกษาและคำแนะนำทางธุรกิจ กิจกรรมสัมมนาเชิงความรู้ และกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ โดยในส่วนของแผนงานลูกค้าธุรกิจนั้น กรุงศรียังคงมุ่งมั่นในการรักษาความเป็นผู้นำในสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่อง" นายโกโตะกล่าว

SGF

SGF กลับเข้าเทรด mai พรุ่งนี้ หลังถูกพักตั้งแต่ปี50

 

หุ้น SGF ได้กลับเทรดตลาด mai วันพรุ่งนี้ 1 ก.พ.60 ในกลุ่มธุรกิจการเงิน หลังถูกพักซื้อขายตั้งแต่ส.ค.50 ในราคาปิดสุดท้าย 0.26 บาท เทรดวันแรกไม่กำหนดซิลลิ่งและฟลอร์ ด้านตลท.เตือนผู้ลงทุนศึกษาข้อมูล

ตลาดหลักทรัพย์ขอให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลของบมจ.สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) (SGF)  เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน  ซึ่ง SGF ได้พ้นเหตุอาจถูกเพิกถอน โดยปลดเครื่องหมาย SP และ NC และให้เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ กลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน ได้ตั้งแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป  

ทั้งนี้กำหนดให้หลักทรัพย์ของ SGF สามารถซื้อขายได้โดยไม่มีกรอบราคา (Ceiling &Floor) ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อให้หลักทรัพย์ดังกล่าวสามารถซื้อขายได้ตามสภาพความเป็นจริง

ก่อนนี้ SGF เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2550 เนื่องจากงบการเงินไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2550 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี ปรากฏส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 202 ล้านบาท ต่อมา SGF ได้ยื่นคำขอพ้นเหตุอาจถูกเพิกถอนและขอให้เปิดซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท

หุ้น SGF มีราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2550 ที่ราคา 0.26 บาทต่อหุ้น หลังจากถูกห้ามซื้อขายจนกว่าบริษัทจะสามารถดำเนินการแก้ไขฐานะการเงินและผลการดำเนินงานได้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2550 

ตลท.ระบุว่าขอให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลบริษัทเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนเนื่องจากมีราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย อาจไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของหลักทรัพย์ในปัจจุบัน

SGF เปิดดำเนินธุรกิจรับซื้อสิทธิเรียกร้อง(แฟคตอริ่ง)แห่งแรก ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2528 โดยการร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท จี เอฟ โฮลดิ้ง จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนครั้งแรก 20 ล้านบาท





SSI

น้ำท่วมคลี่คลาย โรงงาน SSI เริ่มเดินเครื่องผลิต

โรงงาน SSI เริ่มเดินเครื่องผลิตปกติ หลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมอ.บางสะพาน เผยเตรียมเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ชี้แจงถึง สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ช่วงวันที่ 9-12 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งมอบสินค้าของกลุ่มบริษัทว่า ล่าสุดการผลิตของบริษัทได้กลับมาเป็นปกติแล้ว และบริษัทอยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าความเสียหาย พร้อมกับเตรียมการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อไป 
          
ทั้งนี้ เหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.บางสะพาน เป็นที่ตั้งโรงงานของบริษัท บริษัทย่อยและการร่วมค้า ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เวสท์โคสท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด และ บมจ.เหล็กแผ่นรีดเย็นไทย 
         
SSI ระบุว่า ได้เริ่มดำเนินการผลิตได้บางส่วนตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.60 และผลิตเป็นปกติได้ในวันที่ 23 ม.ค.60 โดยการขนส่งสินค้าสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.60 

ขณะที่บริษัท เวสท์โคสท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด สามารถรับงานได้บางส่วนตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.60 โดยยังต้องตรวจสอบและปรับปรุงเครื่องจักรส่วนใหญ่ให้กลับมาดำเนินการได้โดยปกติ และได้ปรับแผนการส่งมอบสินค้าและบริการกับทางลูกค้าที่มีอยู่ 
          
ด้านบริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด ไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม และ บมจ.เหล็กแผ่นรีดเย็นไทย เริ่มดำเนินการผลิตได้ในวันที่ 19 ม.ค.60 การขนส่งสินค้าเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.60

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

DTAC

DTAC ปี59กำไรหด65%งดปันผล-โบรกหั่นกำไร

 

DTAC ปี 59 กำไรหล่นวูบ 65% เหลือ 2.09 พันล้านบาท  ต่ำกว่าที่ตลาดคาด จากการแข่งขันลดราคาเครื่องโทรศัพท์และค่าเสื่อมคลื่นความถี่ พร้อมงดจ่ายปันผลงวดครึ่งปีหลัง ด้านโบรกหั่นเป้ากำไรปี 60-61

บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) แจ้งว่า ผลการดำเนินงานในงวดปี 59 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2.09 พันล้านบาท ลดลง 65% จากปี 58 ที่มีกำไรสุทธิ 5.90 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เกิดจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้น รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างองค์กร 

ขณะที่ EBITDA อยู่ระดับ 2.79 หมื่นล้านบาท ทรงตัวจากปี 58 โดยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4/59 ที่ระดับ 30 ล้านบาท ลดลง 97% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลง 95% จากไตรมาสก่อน โดยส่วนใหญ่เกิดจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้น 

รวมทั้งการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ที่เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 4/59 บริษัทได้บันทึกค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างองค์กรจำนวน 146 ล้านบาท 
         
ส่วนรายได้รวมในปี 59 อยู่ที่ 8.25 หมื่นล้านบาท ลดลง 6% จากปี 58 โดยเป็นรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายที่  6.47 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.3% จากปี 58 ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการเสียง 
          
ณ สิ้นปี 59 บริษัทมีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 24.5 ล้านเลขหมาย ลดลงจากระดับ 25.3 ล้านเลขหมายในปี 58 โดยเกิดจากจำนวนลูกค้าระบบเติมเงินที่ลดลง เนื่องจากบริษัทใช้ความระมัดระวังในการให้ส่วนลดค่าเครื่องในตลาดบริการระบบเติมเงิน ขณะที่ในตลาดดังกล่าวมีการให้ส่วนลดค่าเครื่องในระดับสูง 

อย่างไรก็ดีจำนวนผู้ใช้บริการระบบรายเดือนเพิ่มขึ้นมาที่ 5 ล้านเลขหมาย จากเดิมอยู่ที่ระดับ 4.3 ล้านเลขหมายในปี 58

นอกจากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวานนี้ (30 ม.ค.) ได้อนุมัติงดจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานงวดครึ่งหลังของปี 59 เนื่องจากมีผลขาดทุนสะสมในงบการเงินเฉพาะของบริษัท ซึ่งเป็นผลจากการประเมินการด้อยค่าของสินทรัพย์ในไตรมาส 4/59  
พร้อมกันนี้ยังอนุมัติการโอนทุนสำรองตามกฎหมายจำนวน 474 ล้านบาท และส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญจำนวน 1.19 พันล้านบาท เพื่อลดขาดทุนสะสมในงบการเงินเฉพาะของบริษัทด้วย 

DTAC ระบุถึงแนวโน้มการดำเนินงานในปี 60 ว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่ายในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ยังคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 60 มีแนวโน้มอยู่ระดับเดียวกับปีก่อนเป็นอย่างน้อย

ด้านบล.ซีไอเอ็มบี ระบุว่า DTAC ประกาศกำไรปกติต่อหุ้นในปี 2559 ต่ำกว่าที่เราและตลาดคาด 15% และ 8%  ซึ่งมองว่าผลการดำเนินงานของ DTAC ในปี 2560 จะยังไม่น่าตื่นเต้น แต่มีการพัฒนาในเชิงบวก 

ฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการกำไรปกติต่อหุ้นในปี 2560-2561 ลง 6-17% จากค่าใช้จ่ายค่าเสื่อมราคา พร้อมปรับลดราคาเป้าหมายตามวิธี DCF ลง 5% จาก EBITDA ที่อ่อนตัวลง 
                        
ขณะที่คงคำแนะนำ "ถือ" โดยมองราคาหุ้นที่ 38 บาทเป็นจุดที่น่ากลับเข้ามาลงทุน

AOT

AOT กลับขึ้นเทรดเหนือ 400 บาท แต่ Upside ต้องลุ้นแนวโน้มท่องเที่ยว

SET Index (จันทร์ 30 ม.ค.) ยังย่ำอยู่แถว 1,590 จุด ด้วยแรงซื้อขายสลับในหุ้น Big cap พร้อมการเลือกเก็งกำไรในหุ้น Small&Mid cap ที่มีประเด็นสนับสนุน นักลงทุนส่วนหนึ่งรีๆ รอๆ ไม่แน่ใจกับผลกระทบของมาตรการ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่เริ่มปะทุความขัดแย้งทั้งภายในสหรัฐฯ และทั่วโลก ขณะวอลุ่มส่วนหนึ่งก็หดหายไปตามการปิดทำการในหลายตลาดหุ้นแถบภูมิภาคเอเชียรับเทศกาลตรุษจีน 

แรงซื้อในหุ้น Big cap นำโดย ปตท.สผ. (PTTEP) วอลุ่มเทรดเกือบ 2 พันล้านบาท รับผลงานปี 2559 ดีกว่าตลาดคาด รวมทั้งเงินปันผลที่ออกมา จูงใจนักลงทน  

เช่นเดียวกับหุ้น AOT หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หุ้น Big cap ที่เมื่อวันศุกร์ (27 ม.ค.) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นไฟเขียวการแตกพาร์เหลือ 1 บาท จาก 10 บาท วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้นในกระดาน และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเข้ามาถือหุ้นมากขึ้น 

AOT ต้องดำเนินการจดทะเบียนพาร์ใหม่ 1 บาท ให้แล้วเสร็จภายใน 14 วันทำการ นักวิเคราะห์จึงคาดว่าจะเริ่มเห็น AOT ซื้อขายในราคาพาร์ใหม่ในครึ่งเดือนแรกของเดือน ก.พ.นี้ 

มีข้อมูลระบุว่า จากราคาหุ้น AOT ที่ระดับ 400 บาท มีผู้ถือหุ้นรายย่อยถือครองหุ้นเฉลี่ย 3,100 หุ้นต่อคน จากในอดีตที่ราคาหุ้น 38 บาท มีผู้ถือหุ้นรายย่อยถือหุ้นเฉลี่ย 8,000-9,000 หุ้นต่อคน

และแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าพาร์ แต่จะไม่ทำให้ทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ เปลี่ยนแปลง โดยทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วก็ยังเท่าเดิม แต่จะทำให้มีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น จากก่อนการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 1,428 ล้านหุ้น เพิ่มเป็น 14,285 ล้านหุ้น การเปลี่ยนแปลงพาร์จึงไม่ได้กระทบพื้นฐานของธุรกิจ แต่ด้วยจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขาย และถูกจับตาว่าจะส่งผลบวกด้านจิตวิทยาการลงทุนมากกว่า

นอกจากกระแสการแตกพาร์ของ AOT จะเป็นปัจจัยสนับสนุนในระยะสั้นแล้ว ล่าสุด มีมุมมองต่อผลประกอบการในงวดไตรมาสแรก ปีงบประมาณ 2560 ที่ส่งสัญญาณดีขึ้น จากก่อนหน้านี้มีนักวิเคราะห์กังวลว่าจะไม่สดใส จากผลกระทบในช่วงถวายความอาลัย รวมทั้งการจัดระเบียบ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” 

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจมูลค่าพื้นฐานของโบรกเกอร์ต่างๆ และราคาหุ้นในกระดาน พบว่าใกล้เต็มมูลค่าแล้ว ทำให้น่าติดตามกันต่อว่าแล้วจะมีข้อมูลในส่วนใดเพิ่มเติมเข้ามาเปิด Upside ของราคาหุ้นให้กว้างขึ้น นอกจากประเด็นหนุนเชิง Sentiment เรื่องการแตกพาร์ 

ย้อนกลับไปดูผลการดำเนินงานของ AOT พบว่ากำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก่อนมาถึงปี 2559 (1 ต.ค.58-30 ก.ย.59) บริษัทฯ มีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.95 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% จากปี 2558 ตามจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น

ด้านมุมมองนักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป ยังคงราคาพื้นฐาน AOT ที่ 420 บาท พร้อมคาดว่ากำไรไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2560 เติบโต 6.1% จากปีก่อน มาเป็น 4,908 ล้านบาท ตามรายได้ที่คาดจะเติบโต 8.4% นักวิเคราะห์คาดว่าบริษัทฯ จะรับประโยชน์จากมาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมวีซ่าและลดค่าธรรมเนียมวีซ่าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง มีผล 1 ธ.ค.59 – 28 ก.พ. 60 ให้กับ 19 ประเทศ ซึ่งรวมถึงจีน ทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาฟื้นตัวได้ใน ธ.ค.

และนอกจากจีน ยังมีอินเดียที่เป็นตลาดใหญ่ พร้อมคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2560 เพิ่มเป็น 33.50-34.15 ล้านคน จากเดิม 33 ล้านคน และยังคงคาดการณ์กำไร AOT ปี 2560 ที่ 20,790 ล้านบาท เพื่อรอดูแนวโน้มการเติบโตของนักท่องเที่ยว

ส่งท้ายด้วยความเห็นจาก บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คงราคาพื้นฐาน AOT ที่ 455 บาท และคาดกำไรสุทธิปี 2560 จะเติบโต 15% ดีขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 4.5% พร้อมระบุข้อมูลจากผู้บริหารที่คาดว่า ในงวดปี 2560 จำนวนผู้โดยสารจะเติบโต 8-9% รายได้จะเติบโตในตัวเลขสองหลัก และในช่วง 5 ปีนี้ บริษัทฯ จะใช้เงินราว 1.5 แสนล้านบาท เพื่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2  อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และรันเวย์ และขยายท่าอากาศยานดอนเมืองเฟส 3

ASP

ASP ตั้งเป้ารายได้ปี60โต15% คุมเข้ม บจ.ขายตั๋วบี/อี


ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) บอกว่า บริษัทฯตั้งเป้ารายได้ในปี60 เติบโต 15% จากปีก่อน โดยเป็นการเติบโตในทุกธุรกิจ แต่จะเติบโตมากจากธุรกิจบริการบริหารสินทรัพย์ Wealth Management บริการจัดการกองทุน Asset Management และธุรกิจตราสารหนี้ (Capital Market)เป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมาลูกค้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เริ่มหันมาให้ความสนใจในการลงทุนด้านอื่นๆมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มตลาดตราสารหนี้จะเติบโตได้ดี หลังแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้เอกชนมีความต้องการระดมทุนผ่านตลาดดังกล่าวต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ลงทุนหันมาให้ความสำคัญเรื่องผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทฯเป็นอันเดอร์ไรเตอร์ออกหุ้นกู้และตั๋วบี/อี มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท คาดปีนี้จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 20% โดยในเดือน ม.ค.นี้ได้ออกหุ้นกู้และตั๋วบี/อีไปแล้วกว่า 6 พันล้านบาท ส่วนในเดือน ก.พ.นี้เชื่อว่าจะมีอีกจำนวนมาก

ส่วนประเด็นความกังวลเรื่องการผิดนัดชำระตั๋วบี/อี มองว่าเป็นแค่ปัญหาในบางบริษัทฯ เชื่อไม่กระทบภาพรวมของตลาด โดยบริษัทมีขั้นตอนการพิจารณาที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน นโยบายของผู้บริหาร กระแสเงินสด และแนวโน้มธุรกิจ เป็นต้น

AOT

บอร์ด AOT ยันไม่มีเอี่ยวกับ ไทโคฯ โครงการก่อสร้างท่ากาศยานสุวรรณภูมิ

 

 
ผู้บริหาร"ทอท."  ยันไม่มีนิติกรรมสัญญากับบริษัท  “ไทโค อินเตอร์เนชั่นแนล” สร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ   แต่เตรียมตั้งกรรมการสอบสินบน 

     
นายนิตินัย   ศิริสมรรถการ  ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.  บอกถึงกรณีที่มีข่าวว่า บริษัท ไทโค อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทขายระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์  ได้มีการจ่ายสินบนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ หรือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในระหว่างปี 2547 -2548    ซึ่งทำให้บริษัทฯ ได้กำไรเป็นเงิน 879,258 ดอลลาร์สหรัฐ ว่า ทอท. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว   ขอชี้แจงว่า  

โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  เป็นโครงการที่ดำเนินการโดย บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด หรือบทม.  ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในขณะนั้นให้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ   เริ่มการก่อสร้างในเดือนมกราคม  2545 โดยมีสัญญาจ้างบริษัทที่รับเหมาก่อสร้าง    พร้อมติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยของสนามบินคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน)   ส่วนบริษัท ไทโค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มิได้มีนิติกรรมสัญญาใดๆ กับโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ   ต่อมาในช่วงปลายปี  2548 จึงได้มีการโอนการบริหารสนามบินสุวรรณภูมิให้กับ ทอท. และเปิดให้บริการในเดือนกันยายน  2549

แต่อย่างไรก็ตาม   เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และถูกต้อง ทอท.จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วน  โดย ทอท.ขอยืนยันว่า ทอท.มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส    ซึ่งปัจจุบัน ทอท.ได้นำโครงการลงทุนก่อสร้างที่สำคัญ  มีมูลค่าการลงทุนสูงเข้าร่วมเป็นโครงการต้นแบบตามโครงการของ Construction Sector Transparency Initiative  ซึ่งเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยยกระดับมาตรฐานความโปร่งใสและการตรวจสอบโครงการก่อสร้างของภาครัฐ   โดยใช้กลไกการเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ   เพื่อนำมาใช้ยกระดับมาตรฐานความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างของภาครัฐในประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

FSMART

FSMART วางเป้าขยายตู้บุญเติมปี60 แตะ 1.2 แสนตู้



FSMART ปี60 ตั้งเป้าหมายติดตั้งตู้เติมเงินบุญเติมเพิ่มเป็น 120,000 ตู้ทั่วประเทศ จากสิ้นปี 59 อยู่ที่ 90,000 ตู้ และตั้งเป้าหมายยอดเติมเงิน 30,000 ล้านบาทเติบโตจากปี59 20%
Highlight: 
- ส่วนประเด็นกลุ่ม TRUE เปิดตัว “ตู้เติมเงิน TRUE” ตั้งเป้าติดตั้งทั้งหมด 4 หมื่นตู้ตามสถานที่ต่างๆรวมถึงหน้า 7-11 ปัจจุบัน 
- FSMART ยันมีตู้บุญเติมอยู่หน้า 7-11 ประมาณกว่า 8,000 ตู้ เชื่อไม่กระทบมาก เหตุสัดส่วนรายได้หน้า7-11 ไม่สูงคิดเป็น 10% ของรายได้รวม


บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ผู้ให้บริการตู้เติมเงินออนไลน์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า "บุญเติม" เปิดแผนปี2560 ตั้งเป้าเพิ่มยอดเติมเงินออนไลน์จะเติบโต 20% มาแตะ 3 หมื่นล้านบาท พร้อมติดตู้เพิ่มตู้บุญเติมเป็น 1.2 แสนตู้ทั่วประเทศ 
ส่วนในเรื่องการแข่งขันหลังมีกระแสข่าวว่า TRUE จะรุกธุรกิจตู้เติมเงิน ผู้บริหาร ยอมรับว่า ไม่ส่งผลกระทบมาก เพราะช่องทางการขยายการตั้งตู้บุญเติมในสถานที่อื่นๆมากขึ้น และมั่นใจจะยังครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ต่อไปได้

"ปี 2560 บริษัทวางเป้าหมายติดตั้งตู้เติมเงินบุญเติมไว้ที่จำนวน 120,000 ตู้ทั่วประเทศ จากสิ้นปี 59 อยู่ที่ 90,000 ตู้ และตั้งเป้าหมายยอดเติมเงินที่ 30,000 ล้านบาท ประเมินมูลค่าตลาดเติมเงินมือถือในปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเล็กน้อย ประเมินจากปี 2559 ที่มีมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโต 5% จากปี 2558 เนื่องจากผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือยังมีการแข่งขันเพื่อชิงส่วนแบ่งจากตลาดเติมเงินมือถือเป็นหลัก ด้วยการจัดโปรโมชั่นให้กับลูกค้า
ในปีนี้บริษัทมีแผนจะเพิ่มการให้บริการโอนเงินผ่านธนาคารอย่างน้อยอีก 1 แห่ง จากปัจจุบันให้บริการ ธ.กรุงไทย และ ธ.กสิกรไทยแล้ว
ยอมรับกังวล TRUE บุกธุรกิจตู้เติมเงิน เหตุคู่แข่งเพิ่ม เชื่อกระทบไม่เด่นชัดบริษัทตั้งเป้าหมายระยะยาวภายใน 3 ปี (60-61) จะมีตู้เติมเงิน 1.7 แสนตู้ และมียอดเติมเงินถึง 40,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 20%ในด้านการแข่งขัน
ที่มีกระแสข่าวว่า TRUE จะรุกธุรกิจตู้เติมเงิน ยอมรับว่ากังวลพอสมควร เพราะคู่แข่งมากขึ้น แต่คาดว่าไม่ส่งผลกระทบมาก เพราะที่ผ่านมามีการเจรจากับ TRUE ตลอด เพราะเป็นพันธมิตร ซึ่งกลยุทธ์ของ TRUE อาจขยายไปยังพื้นที่ ไม่ทับซ้อนกับบุญเติมมากนัก รวมถึงหากเป็นพื้นที่หน้าเซเว่น อีเลฟเว่น ปัจจุบันบุญเติมได้ตั้งตู้หน้าเซเว่น อีเลฟเว่น เพียง 8,000 ตู้ จากตู้รวมมากกว่า 90,000 ตู้ ซึ่งถือเป็นจำนวนน้อยมากหากได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามบริษัทได้พยายามหาช่องทางการขยายอื่นๆมากขึ้นเช่นสถานีน้ำมัน เป็นต้น ในเดือนกุมภาพันธ์บริษัทเตรียมเปิดให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ “Be wallet” บนสมาร์ทโฟน เพื่อให้บริการเติมเงิน รับชำระบิล และบริการอื่นๆ รวมถึงการซื้อสินค้าผ่านแอพแอพพลิเคชั่น”

SCC

SCC ราคาหุ้น Outperfrom ต่อเนื่อง หลังกำไรปี59 ทุบสถิติสูงสุด


บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เพิ่งจะประกาศข่าวดีไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา จากผลประกอบการในงวดปี59 จะเติบโตได้โดดเด่น เป็นปัจจัยสนับสนุนราคาหุ้นกลับมายืนเหนือระดับ 500 บาทได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการเติบโตธุรกิจในปี2560
 SCC ได้แจ้งกำไรใน59 เพิ่มขึ้น 24% มาอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขกำไรสูงสุดเป็นประวัติกาณ์ จากผลดำเนินงานธุรกิจเคมีภัณฑ์ดีขึ้น แม้ธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ผลดำเนินงานในประเทศลดลง ส่วนไตรมาส 4/59 มีกำไรสุทธิ 1.24 หมื่นล้านบาท ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กำไรไตรมาส 4/59 ในระดับ 8-9 พันล้านบาท และทั้งปี 59 ที่ราว 5.2 หมื่นล้านบาท

บล.บัวหลวง ให้ราคาเหมาะสม 620 บาท แม้ว่าความต้องการใช้ปูนซิเมนต์และวัสดุก่อสร้างภายในประเทศที่อ่อนตัวนั้นใกล้เคียงกับคาดการณ์ของตลาด แต่มุมมองเชิงบวกต่อธุรกิจปิโตรเคมี เบื้องต้นประเมินว่าส่วนต่างราคาผลืตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะปรับตัวสูงขึ้นหลังจากเทศกาลวันตรุษจีน จากลูกค้ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสต๊อกสินค้าคงคลังเนื่องจากเชื่อว่าราคาปิโตรเคมีจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้อย่างเช่น เบนซีนและโทลูอีน ก็มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงกว่าที่คาดไว้ หนุนโดยอุปทานที่ตึงตัวจากประเทศจีน

บล.เคจีไอ ให้ราคาเป้าหมาย 640 บาท เนื่องจากการเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงปูนในกัมพูชา อินโดนีเซีย และเมียนมาร์เป็นกว่า 70% บวกกับ spread เคมีภัณฑ์ที่สูง และมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 38% นอกจากนี้ การฟื้นตัวของอุปสงค์เคมีภัณฑ์ในตลาดโลก และอุปสงค์ปูนในประเทศ บวกกับอานิสงส์ของค่าเงินบาทที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลดีต่อการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 40% ของยอดขายรวม ทั้งนี้ ประเมินกำไรปกติในปี 2560 อยู่ที่ 5.61 หมื่นล้านบาท

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

ASP

ASP เข้มงวด บจ.ขายตั๋วบี/อี เรียกความเชื่อมั่นผู้ลงทุน


 


ซีอีโอ เอเซียพลัส กรุ๊ปโฮลดิ้ง เชื่อปี60 ตลาดหุ้นกู้เอกชนโตต่อเนื่อง ตามเศรษฐกิจฟื้น พร้อมยืนยันเข้มงวดเอกชนขายตั๋วบี/อี ขอสินทรัพย์ค้ำประกัน ตรวจเงินสด เรียกความเชื่อมั่นผู้ลงทุน

ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (ASP) บอกว่า  บอกถึงประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี ของบริษัทจดทะเบียนบางรายว่า ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นอยู่ในวงจำกัด เชื่อว่าไม่กระทบภาพรวมของตลาดทั้งหุ้นกู้ และตั๋วบี/อี ซึ่งบริษัทต่างๆยังต้องการออกกันอีกมาก เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะที่บริษัทเองที่มีหน้าที่เป็นอันเดอร์ไร์เตอร์มีขั้นตอนการพิจารณาที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน นโยบายของผู้บริหาร กระแสเงินสด และแนวโน้มธุรกิจ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 เอเซียพลัส เป็นอันเดอร์ไรเตอร์หุ้นกู้ที่จดทะเบียนในตลาดตราสารหนี้ (ThaiBMA) มูลค่าราว 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากที่สุดในอุตสาหกรรมเทียบกับหุ้นกู้ทั้งหมดที่มีมูลค่ารวม 5.7 แสนล้านบาท

และถ้าหากนับรวมตราสารหนี้ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียนใน ThaiBMA แล้ว "เอเซียพลัส" เป็นอันเดอร์ไรเตอร์ตราสารหนี้ทั้งหมดมูลค่ารวม 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ 4 หมื่นล้านบาท และตั๋วบี/อี จำนวน 8 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนของตั๋วบี/อี ปีที่ผ่านมาออกกันมาก เนื่องจากเอกชนต้องการเงินไปใช้ขยายธุรกิจ และดำเนินการออกได้รวดเร็ว รวมทั้งยังเป็นการกระจายการระดมทุนที่นอกเหนือจากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ทำให้เอกชนหันมาใช้การออกตั๋วบี/อีควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเช่าซื้อ

ดร.ก้องเกียรติ บอกอีกว่า สำหรับแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ปี60 เติบโตต่อเนื่องตามความต้องการระดมทุนของเอกชน เพื่อขยายธุรกิจรองรับเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเอเซียพลัสประเมินว่าจีดีพีจะขยายตัวในอัตรา 3.5% ในปีนี้ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัว หลังจากที่ภาครัฐนำร่องการลงทุนไปแล้ว และออกมาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นให้เอกชนลงทุนด้วย 

จากเอกสารเผยแพร่พบว่าล่าสุด ทางบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พสัส  ได้รับรางวัล Top Underwriting Securities Firm ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และทำอันเดอร์ไรเตอร์หุ้นกู้มากที่สุดในปีนี้ก็เช่นกัน

S

S ตั้งเป้ารายได้แตะ 2 หมื่นลบ.ในปี 2563

 

CEO “สิงห์ เอสเตท” หรือ หุ้น S ระบุถึงเป้าหมายการเติบโตของรายได้และกำไรของบริษัทจะขยายตัวต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2563 มั่นใจว่า รายได้จะแตะระดับ 2 หมื่นล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่เป็นรายได้ประจำและค่าเช่า 50% จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจที่อยู่อาศัย 32% // ธุรกิจสำนักงาน 25% // และโรงแรม 43% 

นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “สิงห์ เอสเตท”  ระบุว่าในปีนี้บริษัทฯ ยังคงดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ระยะยาวในการพัฒนาโครงการที่มีคุณภาพระดับ “Best in Class” ซึ่งเบื้องต้นได้เตรียมงบลงทุนรวมไว้ราว 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนในธุรกิจธุรกิจสำนักงาน 1,476 ล้านบาท // ธุรกิจที่พักอาศัย 3,647 ล้านบาท // ธุรกิจโรงแรมและบริการ 9,232 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นซื้อกิจการจากประเทศในกลุ่ม CLMV ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว 


ตามแผนงาน S จะมีการเปิดตัว 3 โครงการใหม่ ในธุรกิจที่อยู่อาศัยในระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ มูลค่าโครงการรวมกว่า 15,000 ล้านบาท คาดมียอด Pre-sales ราว 6,760 ล้านบาท และเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยภายใต้แบรนด์เนอร์วาน่าอีก 4 โครงการ


ล่าสุด “สิงห์ เอสเตท” มีงานที่รอรับรู้รายได้จากการโอน (Backlog) อยู่ที่ราว 7,000 - 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ภายใน 2 - 3 ปีนี้ ส่วนความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จะเป็นการนำธุรกิจโรงแรม หรืออาคารสำนักงานขายเข้ากองทุน 


ส่วนแผนที่จะนำ ธุรกิจโรงแรม “สิงห์โฮเทลแอนด์เรสซิเด้นท์” (SHR) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และหาที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) พร้อมการเดินหน้าซื้อกิจการโรงแรมเพิ่มเติมอีก 2-3 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 2 แห่ง เพื่อเพิ่มขนาดสินทรัพย์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

SCC

SCC ตั้งเป้ายอดขายปีนี้โต 5-10%


 


“ปูนซิเมนต์ไทย” หรือหุ้น SCC ผตั้งเป้าหมายยอดขายในปีนี้เติบโต 5 - 10% จาก 4.23 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา หลังราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกลับมาฟื้นตัวขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน 

รวมถึงความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศน่าจะกลับมาเติบโตได้ 1 - 3% มาอยู่ที่ราว 40 ล้านตัน ตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ 

สำหรับส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังอยู่ในทิศทางดีตามวัฎจักรของอุตสาหกรรม จากกำลังผลิตใหม่ของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก ท่ามกลางภาวะความต้องการใช้ที่ยังขยายตัว
          
บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนในปีนี้ไว้ราว 6 - 7 หมื่นล้านบาท ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อรองรับการขยายงานในอาเซียน โดยเฉพาะโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม ที่คาดว่าจะเริ่มลงทุนได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รวมถึงโอกาสการเข้าซื้อกิจการโรงปูนซีเมนต์ในเวียดนาม หลังประเมินตลาดปูนซีเมนต์ในอาเซียนยังคงเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในเมียนมาร์ เวียดนาม  และกัมพูชา 

สำหรับผลการดำเนินงานของปี 2559 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 56,084 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อนที่มีกำไร 45,399 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ดีขึ้น และมี EBITDA 96,227 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อน ขณะที่รายได้จากการขายเท่ากับ 423,442 ล้านบาท ลดลง 4% จากปีก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง

TPIPL

โบรกเกอร์ส่องพื้นฐานหุ้น TPIPL แรงขายยังกดดันต่อเนื่อง



 


ค่อยๆ ขยับฐานขึ้นต่อเนื่องและแตะนิวไฮรอบปีกว่าสำหรับดัชนีตลาดหุ้นไทย (พุธ 25 ม.ค.) แม้ต่างชาติจะขายสุทธิ (-1.5 พันลบ.) แต่ทิศทางยอดรวมฝั่งซื้อยังเป็นไปในทิศทางขาขึ้น แถมยังเห็นเม็ดเงินที่เข้ามาจากสถาบันในประเทศที่เป็นยอดซื้อสุทธิ (+2.3 พันลบ.)  แรงซื้อเข้ามายังกลุ่ม Big cap  นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มสื่อสาร เป็นต้น แม้ว่าจะมีแรงขายทำกำไรสลับออกมากดดันระหว่างทาง หลังขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,585 จุด กับภาพทางเทคนิค SET INDEX ที่ยังไม่ปิดโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อ

"Stocks to Watch" ยังอยู่กับหุ้นที่มีประเด็นร้อนให้จับตาต่อ คือ “ทีพีไอ โพลีน” (TPIPL) หลังเผชิญแรงขายหนักติดต่อกันเป็นวันที่สอง ฉุดราคาหุ้นทำจุดต่ำสุดในรอบ 1 เดือน จากก่อนหน้านี้ปรับตัวเป็นขาขึ้นนับตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย.2559 และขึ้นทำ High ใหม่ในรอบ 1 ปี กับ 6 เดือน เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับประเด็นหลักที่เข้ามาฉุดราคาหุ้นให้ร่วง น่าจะเกิดจาก TPIPP ซึ่งเป็นบริษัทลูกติดปัญหาบางประการจนทำให้มีความล่าช้าในการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าขยะให้่กับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 90 เมกะวัตต์ จากแผนเดิมจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรก และแม้ว่าผู้บริหารเองยืนยันว่าจะไม่กระทบกับแผนการนำ TPIPP เข้าจดทะเบียนใน SET ตามแผนเดือน ม.ค.นี้ แต่การซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. อาจจะล่าช้าไปถึงในไตรมาส 4/60

นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมประเด็นกดดันเพิ่มเติมจากโบรกเกอร์บางค่ายที่ระบุว่า TPIPL ติดโผหุ้นที่มีโอกาสติด Cash Balance ในสัปดาห์นี้ 

ฝั่งปัจจัยพื้นฐาน นักวิเคราะห์ “เมย์แบงก์ กิมเอ็ง” ประเมินโรงไฟฟ้าขนาด 90MW ที่ล่าช้าออกไป 290 วัน จะกระทบกำไรในปีนี้ประมาณ 1.7 พันล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้ประมาณการกำไรในปี 2560 จะปรับลดลงจาก 3,501 ล้านบาทเหลือ 1,800 ล้านบาท สำหรับธุรกิจปูนซีเมนต์ในปี 2560 จะมีการเริ่มก่อสร้างในโครงการของรัฐบาลมากขึ้น หลังจากที่มีการเปิดประมูลในช่วงปลายปี 2559 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความต้องการปูนซีเมนต์ในปี 2560 ฟื้นเป็นบวกได้ราว 5% และจะทำให้การแข่งขันด้านราคาลดน้อยลง ทำให้ธุรกิจวัดสุก่อสร้างฟื้นตัวจากปี 2559 ที่ขาดทุนอย่างหนัก 

นักวิเคราะห์ยังคงประมาณการในปี 2561 บริษัทฯ จะรับรู้โรงไฟฟ้าต่างๆ รวม 116 MW ที่ผลิตเต็มกำลังการผลิต และธุรกิจวัสดุก่อสร้างจะได้แรงหนุนจากการก่อสร้างโครงการของรัฐบาล ทำให้กำไรจะพลิกปรับตัวดีขึ้นเป็น 3,780 ล้านบาท “เมย์แบงก์ฯ” ประเมินราคาพื้นฐาน TPIPL ที่ 2.85 บาท

ด้าน “ฟินันเซีย ไซรัส” มองว่าความล่าช้าของการเปิดดำเนินงานอาจทำให้การ IPO ของ TPIPP ล่าช้า มีผลให้ TPIPL ต้องแบกภาระค่าเสื่อมราคาที่บันทึกอยู่ต่อไป และโอกาสจะพลิกเป็นกำไรทำได้ยากขึ้น ขณะเป้าหมายราคาหุ้นใน Consensus ที่ 2.8-3.3 บาทน่าจะมีการปรับลดลง จึงแนะนำให้ “Wait&See”

 เช่นเดียวกับโบรกเกอร์ “เอเซียพลัส” ที่ได้ปรับประมาณการกำไร TPIPL ปีนี้ลง 33% บนสมมติฐานโรงไฟฟ้าขยะดังกล่าวจะเลื่อนไป COD ปี 2561 จึงให้มูลค่าพื้นฐานใหม่ที่ 3.06 บาท (เดิม 3.14 บาท) นอกจากนี้ ประเด็นดังกล่าวยังกระทบต่อแผน IPO ของ TPIPP ให้ล่าช้า แต่ยังเชื่อว่าจะสามารถขาย IPO ได้ทันภายในปีนี้

แตกต่างจากค่าย "ทิสโก้" ที่ประเมินว่าแม้การเลื่อนเซ็น PPA ของ TPIPP ขนาด 90 MW ทำให้กระทบต่อมูลค่าที่เหมาะสมตามวิธี Sum of the Parts จากความล่าช้า แต่ผลกระทบต่อประมาณการและมูลค่าที่เหมาะสมจาก Discount CF ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากประเมินในเชิงรับอยู่แล้ว โดยหากการ IPO ของ TPIPP ไม่ถูกเลื่อนออก TPIPL จะมี Upside จากการปรับนโยบายทางบัญชี โดยหลังการจดทะเบียน TPIPP จะทำให้ค่าเสื่อมราคาลดลงปีละ 1.3 พันล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการ จึงยังคงราคาพื้นฐาน 3.30 บาท