หาสาเหตุ TPIPL ร่วงแรง ผู้บริหารยันเดินหน้าเข็น TPIPP เข้าตลาดตามแผน
ดัชนีตลาดหุ้นไทยพยายามไต่ระดับฝ่าด่านอรหันต์ที่ 1,583 จุด ขึ้นเป็น “High” ใหม่ของปี 2560 ที่ทำไว้เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ด้วยความคาดหวังผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนงวดปี 2559 จะฟื้นตัวดี หลังกลุ่มธนาคารพาณิชย์นำร่องทยอยประกาศไปแล้ว ผสมกับทิศทางค่าเงินบาทขึ้นมาแข็งค่าที่ระดับ 35 ต้นๆ อีกครั้ง กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องชี้ที่คอยสนับสนุน “Fund flow” หลังจากนี้
อย่างไรก็ดี พบว่ามีหุ้น Big cap ที่มีประเด็นลบฉุดราคาหุ้นร่วงแรง นั่นคือ TPIPL (ทีพีไอ โพลีน) ภายหลังมีข่าวบริษัทลูกถูกยกเลิกเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ และอาจลามทำให้แผนการเข้าซื้อขายใน SET ไม่ทันตามแผนเดิม ขณะราคาหุ้นที่ร่วงลงแรงในรอบนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการขายของนักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่ ผสมกับการบังคับขาย (Forced Sell) ในบัญชีกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์
“วรวิทย์ เลิศบุษศราคาม” รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ในกลุ่ม บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL บอกกับ Money Channel ถึงสาเหตุหุ้นร่วงลงแรงว่า อาจเป็นการเข้าใจข้อมูลคาดเคลื่อนของตลาดถึงประเด็นที่ทาง TPIPP ได้ถูกยกเลิกสัญญาการขายไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าขยะให้่กับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 90 เมกะวัตต์ เพราะติดปัญหาเรื่อง EIA ทำให้ไม่สามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)ได้ตามกำหนดในวันที่ 21 พ.ย.59
ในเรื่องนี้ คุณวรวิทย์ ระบุว่า โรงไฟฟ้าขยะดังกล่าวได้ดำเนินการจัดทำผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ทางการได้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ใหม่คือประมวลหลักการปฎิบัติงาน (CoP) เข้ามา ซึ่งถือเป็นหลักเกณฑ์คล้ายกับ EIA แต่มีความรวดเร็วกว่า ทางบริษัทฯ จึงได้หันมาใช้เกณฑ์ CoP ทดแทน ซึ่งได้ยื่นเรื่องไปแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ. 59 โดยทางการได้ประกาศใช้เป็นทางการเมื่อเดือน ก.ย.59 แต่เมื่อในขั้นตอนตรวจสอบกับติดปัญหาบางประการ จึงทำให้ไม่ทันเวลาเซ็น PPA กับทาง กฟผ.ในวันที่ 21 พ.ย.59 อย่างไรก็ดี ขอยืนยันว่าบริษัทฯ มีความพร้อมเรื่องการทำ EIA ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะนำมาปรับปรุงในบางรายการ ก็จะสามารถส่งหนังสือให้กับทางการอนุมัติให้ดำเนินการได้ต่อไป
ขั้นตอนหลังจากนี้ คือ ต้องให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกหนังสือที่บริษัทฯได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว ให้ขยายเวลาการเซ็น PPA กับทาง กฟผ.ภายใน 290 วัน โดยระหว่างนี้ต้องรอหนังสือเป็นทางการจาก กกพ. ก่อน และขั้นตอนต่อไป บริษัทฯ จะดำเนินการยื่นแบบ EIA ให้กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณา ก่อนจะเข้าเซ็น PPA กับ กฟผ.ต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถยื่นแบบ EIA ได้ปลายเดือน ก.พ.นี้
สำหรับแผนการนำ TPIPP เป็นบริษัทลูกของ TPIPL เข้าซื้อขายใน SET คุณวรวิทย์ ระบุว่า ระหว่างนี้คงต้องหารือกับทางที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ก่อนว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่แผนเดิมคาดจะเข้าซื้อขายได้ปลายไตรมาส 1/60 หรืออย่างช้าเป็นต้นไตรมาส2/60 ซึ่งเชื่อว่าตอนนั้นจะมีความชัดเจนการยื่นแบบ EIA เรียบร้อยแล้ว และก็คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 2/60 สอดคล้องกับสายส่งของสถานีไฟฟ้า กฟผ. ที่สระบุรี ที่คาดจะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 2/60 เช่นเดียวกัน ซึ่งเลื่อนจากเดิมที่คาดจะเสร็จในปลายปี2559 ดังนั้น จึงต้องมาประเมินอีกครั้งว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนฯ ได้ตามแผนหรือไม่
มาที่ฝั่งมุมมองนักวิเคราะห์ “ประสิทธิ์ รัตนกิจกมล” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ให้ข้อมูลกับ Money Channel ว่า ราคาหุ้น TPIPL ปรับตัวลงรุนแรง (อังคาร 24 ม.ค.) ในลักษณะ “Panic sell” เป็นผลจากการที่ กกพ.ได้ขึ้นผ่านเว็บไซต์ว่าโครงการ TPIPP ไม่สามารถเซ็น PPA ได้ หลังไม่ผ่านเงื่อนไข CoP
ฝ่ายวิจัยฯ เชื่อว่าทีมผู้บริหาร TPIPP จะสามารถยื่นแบบ EIA ได้เร็วกว่ากำหนด 290 วัน เพราะบริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่ดำเนินการแล้ว 2 แห่ง กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ และ 60 เมกะวัตต์ ทำให้มีประสบการณ์ทำ EIA อยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าจะตอบคำถามข้อท้วงติงจาก กกพ.ได้แน่นอน จากนั้นก็น่าจะได้ PPA และขายไฟฟ้าได้ในขั้นต่อไป
สำหรับแผนการขายหุ้นไอพีโอของ TPIPP ระดมทุนเพื่อก่อสร้างโครงการใหม่ และใช้หนี้ให้แก่บริษัทแม่ TPIPL ประเมินผลกระทบได้ 2 กรณี ประกอบด้วย :
กรณีแรก ถ้าหาก TPIPP ไม่มี PPA ก้อนนี้ การตั้งราคาไอพีโอจำเป็นต้องมี Discount เพื่อจูงใจนักลงทุน ทำให้เงินระดมทุนเข้ามาน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้
กรณีที่สอง คือ หากรอได้ PPA อาจจะกระทบให้ต้องเลื่อนแผนการเข้า SET ตามแผนเดิม คือ เดือน เม.ย.-พ.ค.60 ซึ่งต้องจับตาว่าจะต้องเลื่อนหรือไม่ หลังเคยเลื่อนมาเเล้วเมื่อเดือน พ.ย.59
ผลกระทบกับบริษัทแม่ คือ TPIPL ที่ปัจจุบันถือหุ้นใน TPIPP สัดส่วน 100% แม้หลังขายไอพีโอจะเหลือถือ 70% ซึ่งหากไม่สามารถจ่ายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ได้ในปีนี้ ก็จะทำให้กำไร TPIPL หายไปถึง 875 ล้านบาท หรือคิดเป็น 33% ของประมาณการทั้งปี2560 ภายใต้สมมติฐานว่า มีการรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าแค่ 50% เท่านั้น และจะกระทบให้มูลค่าพื้นฐาน TPIPL หายไป 0.08 บาท (แบ่งเป็น กำไร 875 ล้านบาท เท่ากับ 0.04 บาท และมูลค่าแฝงโรงไฟฟ้าใน TPIPL เท่ากับ 0.04 บาท) ทำให้ต้องลดราคาพื้นฐานลงเหลือ 3.06 บาท จากเดิม 3.14 บาท
โบรกเกอร์รายนี้มองในระยะสั้น แนะนำนักลงทุนให้หลีกเลี่ยง เพื่อรอความชัดเจนว่า บริษัทฯ จะได้ PPA จริงก่อน ขณะที่งบไตรมาส 4 ที่ผ่านมาอาจจะไม่สดใส เพราะธุรกิจปูนซีเมนต์แข่งขันรุนแรง และมีผลกระทบบันทึกค่าเสื่อมทางบัญชีอีก 1.4 พันล้านบาทต่อไตรมาส จากจำนวนเต็ม 1.9 หมื่นล้านบาทหากคิดเป็นค่าเฉลี่ยต้องจ่ายทั้งสิ้น 10 ปี ขณะบริษัทฯ มีแผนปรับเปลี่ยนการบันทึกบัญชีใหม่ ซึ่งคาดจะชัดเจนในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น