PTG ร่วมทุน "เอี่ยมบูรพา" สร้างโรงงานเอทานอลมูลค่า 1.5 พันล้านบาท ถือหุ้น 60:40 กำลังผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 63 พร้อมวางเป้ารายได้ปี60 โตไม่ต่ำ 30%
บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) ผู้ให้บริการสถานีน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้แบรนด์ PT ประกาศจับมือบริษัท เอี่ยมบูรพา ก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังกำลังผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน มูลค่า 1.5 พันล้านบาท โดยเดินหน้าผ่านบริษัทร่วมทุน "อินโนเทค กรีนเอ็นเนอยี" ซึ่งทาง PTG ถือหุ้น 60% พร้อมกับจัดพิธีลงนามกับพันธมิตรกลุ่มทุนญี่ปุ่น "ซัปโปโร โฮลดิ้ง" เพื่อใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยลดต้นทุน เสริมศักยภาพทำกำไรในระยะยาว โดยตั้งเป้ารายได้ปี 2560 เติบโตไม่ต่ำกว่า 30%
"โครงการนี้เราร่วมทุนกับ บริษัทเอี่ยมบูรพา งบลงทุนโครงการ 1.5 พันล้านบาท กำลังผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน ผ่านบริษัทร่วมทุน อินโนเทค กรีนเอ็นเนอยี ที่เราถือหุ้น 60% และ เอี่ยมบูรพาถือหุ้น40% การลงทุนนี้มองว่ามีโอกาสเติบโตมากเพราะในอนาคตเราต้องการใช้เอทานอลไม่ต่ำกว่า 1 ล้านลิตรอยู่แล้ว ทำให้มีความจำเป็นต้องมีแหล่งผลิตโดยตรงไม่ว่าจะจากมันสำปะหลัง หรือจากกากน้ำตาลที่กำลังอยู่ระหว่างเจรจา"นายพิทักษ์กล่าว
บริษัทเอี่ยมบูรพา มีสัดส่วนผลิตมันสำปะหลังกว่า 30% ของยอดใช้ทั้งประเทศ และการลงนามพันธมิตรญี่ปุ่น จะช่วยให้เอทานอลมีปริมาณมากขึ้นจากเทคโนโลยีทันสมัย เริ่มก่อสร้างในปี 61และเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ ในปี 63
ผู้บริหาร PTG ระบุว่า โครงการนี้มีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ประมาณ 20% หรือสร้างกำไรสุทธิ 300 ล้านบาทต่อปี โดยจะเดินเครื่องการผลิตเต็มกำลังในปี 64 เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง จะมีต้นทุนต่ำกว่าวัตถุดิบอื่น 3 บาทต่อลิตร
อีกทั้งยังมีแผนจะสร้างโรงงานเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง โรงที่ 2 ขนาดกำลังผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน หลังจากโรงงานแรกเริ่มก่อสร้างแล้ว 1 ปี จะทำให้ในปี 64-65 มีกำลังผลิตอยู่ที่ 4แสนลิตรต่อวัน โดยเงินลงทุนโรงงานแห่งที่ 2 จะใช้ไม่ถึง 1.5 พันล้านบาท เนื่องจากอยู่พื้นที่เดียวกับโรงงานแห่งแรก จึงไม่มีต้นทุนการซื้อที่ดินเพิ่ม
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 60 บริษัทคาดมีปริมาณขายน้ำมันอยู่ที่ 3.9-4 พันล้านลิตร เติบโต 30% จากปี 59 อยู่ที่ประมาณ 2.9 พันล้านลิตร และคาดจะทำรายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1 แสนล้านบาท จากปี 59 ที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันดิบมีทิศทางเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเพิ่ม 2-3 บาทต่อลิตร แต่เชื่อไม่กระทบจิตวิทยาการบริโภคน้ำมัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น