Update: 22.42 น. 19 ม.ค. 60
ภาวะตลาดหุ้นไทยภาคบ่าย (พฤหัสฯ 19 ม.ค.) ถูกแรงขายทดสอบจนหลุดระดับ 1,550 จุด ก่อนที่จะมีวอลุ่มซื้อกลับเข้ามาช่วยประคองดัชนีฯ นักลงทุนลดความเสี่ยงระยะสั้น หนีประเด็น "ทรัมป์" ว่าจะชูนโยบายใดในการแถลงเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ม.ค.นี้
ภาพเทคนิค SET ดูแย่ลง หลังจากหลุดแนวรับสำคัญที่ 1,550 จุด ในช่วงเดียวกับการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน นำร่องโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จนปะทุแรงขาย “Sell on fact” ออกมาเป็นรายตัว
หุ้นในกลุ่มการเงินอย่าง บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เป็นอีกหนึ่งรายในหุ้นกลุ่มการเงินที่เพิ่งแจ้งงบปี 2559 ด้วยกำไรสุทธิ 2,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2558 ใกล้เคียงกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะทำได้ราว 2.5 พันล้านบาท
รายได้งวดปี 2559 ของ KTC อยู่ที่ 17,580 ล้านบาท เติบโตจากรายได้ดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่ 9% และ 17% ตามลำดับ ขณะที่ในรอบ 11 เดือนของปี 2559 มีปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทฯ ขยายตัว 13.2% สูงกว่าอัตราเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ที่ 6.8% ขณะปริมาณซื้อขายผ่านร้านค้าเติบโต 14.9% เป็นมูลค่า 57,658 ล้านบาท จากฐานจำนวนร้านค้าที่เพิ่มขึ้นเป็น 29,764 ร้านค้า หรือเพิ่มขึ้น 29.2%
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ KTC มีทั้งสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ธุรกิจบัตรเครดิต ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อบุคคล (Personal Loan) ให้บริการรับชำระค่าสาธารณูปโภค และชำระเงินประเภทอื่นๆ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์
ผลประกอบการของ KTC ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นยืนยันแนวโน้มราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นทุบสถิติมาอย่างต่อเนื่องในทุกปี จากปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 1.28 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 1.75 พันล้านบาทในปี 2557 และ 2 พันล้านบาทในปี 2558 ก่อนขึ้นมาเป็น 2.49 พันล้านบาทในปี 2559 ที่ผ่านมา สอดรับกับทิศทางราคาหุ้นที่เคยขึ้นไปถึง 156 บาทในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการทำ “All Time High” ครั้งล่าสุด
ถ้าหากประเมินแนวโน้มผลประกอบการในปี 2560 ในมุมมองของนักวิเคราะห์บางค่ายเชื่อว่ายังมีโอกาสที่กำไร KTC จะทำสถิติสูงสุด สร้างความหวังว่าราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน
โบรกเกอร์ “ฟิลลิป (ประเทศไทย)” คาดกำไรปี 2560 KTC จะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.9% และมีอัตราจ่ายปันผล 4.60 บาท พร้อมระบุ KTC มีหนี้เสียต่ำกว่าอุตสาหกรรมมาก ขณะบริษัทฯ ได้ปรับระบบภายใน รวมไปถึงการเข้มงวดในการคัดเลือกลูกค้าเพิ่มขึ้น
ทางด้านธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทฯ ปรับมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ โดยปรับเพิ่มรายได้ต่อเดือน จากเดือนละ 1 หมื่นบาทเป็น 1.2 หมื่นบาท ซึ่งน่าจะทำให้ระดับ NPLของ KTC ลดลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางผู้บริหารบอกว่าไม่มีนโยบายที่จะกลับสำรองเป็นรายได้ หากระดับ NPL ลดต่ำลง
“ฟิลลิปฯ” ให้ราคาพื้นฐาน KTC ที่ 148 บาท
ด้าน "โนมูระ พัฒนสิน" ระบุถึงการปรับอันดับเครดิตเรตติ้งใหม่เป็น “A+” จากเดิม “A-“ ส่งผลให้การออกหุ้นกู้ชุดใหม่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลง ขณะในช่วง 2 ปีข้างหน้า จะมีหุ้นกู้ต้นทุนสูงทยอยสิ้นสุด เริ่มตั้งแต่ในไตรมาส 3/60 , ไตรมาส 4/60 , และไตรมาส 3/61 ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวต้นทุนการเงินของบริษัทฯ จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะมีผลบวกต่อศักยภาพทำกำไรในแต่ละปี
นอกจากนี้ ยังเห็นทิศทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมบัตรเครดิตมีความรุนแรงลดลง โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการกลุ่มแบงก์ เพราะต้องการควบคุมระดับ NPL นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่าจะทําให้ KTC ไม่จําเป็นต้องใช้แคมเปญและค่าใช้จ่ายทางการตลาดสูง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น