วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

LVT

LVT ขาดสภาพคล่องหยุดกิจการเลิกจ้าง



LVT แจ้งหยุดกิจการชั่วคราวพร้อมเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ใช้แนวทางจ้าง  Outsource หลังประสบขาดปัญหาสภาพคล่อง ไม่มีงานใหม่เข้า ลูกค้าเบี้ยวจ่ายเงิน ขณะที่บริษัทยังอยู่ระหว่างยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

บริษัท แอล. วี. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)  "LVT"  แจ้งว่า เนื่องจาก LVT ได้ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินมาก ไม่มีงานโครงการใหม่ และไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้ตามแผนส่งผลให้ไม่มีรายได้เพื่อใช้จ่ายประจำและเป็นเงินทุนหมุนเวียน
รวมทั้งอยู่ระหว่างขั้นตอนการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องหยุดประกอบกิจการชั่วคราวและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด เว้นแต่กรรมการบริหารได้แก่ นายธนิก ศิริวัฒนประยูร นายวิชัย ตันติกุลานันท์ นายอุระ หวังอ้อมกลาง และนายสงวน สงวนรักศักดิ์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป
    
อย่างไรก็ตาม งานที่ยังไม่ได้ส่งมอบนั้น ทางบริษัทฯ จะว่าจ้าง Outsource ตามความจำเป็นเพื่อติดตามงานดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบงานภายในเดือนเมษายน 2560 หากส่งมอบงานเรียบร้อยแล้วหรือมีความคืบหน้าใดๆ จะประกาศให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายจึงเห็นควรลดวันทำงานให้เหมาะสมกับปริมาณงานในขณะนี้ โดยบริษัทจะหยุดทำการทุกวันจันทร์และวันศุกร์ โดยเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3  มีนาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง

ก่อนหน้านี้ LVT แจ้งเลื่อนยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง  เป็นภายในวันที่ 7 มีนาคม 2560 จากกำหนดเดิมภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560


LVT ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกล โดยการออกแบบ พัฒนา และปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ สำหรับอุตสาหกรรมซีเมนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกัน

IFEC

หมอวิชัย IFEC เซ็นเอ็มโอยูกองทุนจีนขายดาราเทวี




หมอวิชัย เผยลงนามส่วนตัวเซ็น MOU กองทุนจีน Jade Bird Fund ขายโรงแรมดาราเทวี มูลค่า 5,000 ล้านบาท ขณะที่หลังจากนี้ต้องยื่นขออนุมัติบอร์ดก่อน

นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เปิดเผยว่า ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ในนามส่วนกับกองทุน Jade Bird Fund จากประเทศจีน เพื่อเสนอขายโรงแรมดาราเทวี มูลค่า 5,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนดังกล่าว เพื่อเรียกความเชื่อมั่นแนวทางแก้หนี้และเตรียมเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาในภายหลัง 
          
“เอ็มโอยูในวันนี้เป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ของ IFEC แต่หลังจากนี้จะต้องนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทพิจารณา ซึ่งการลงนามในสัญญาวันนี้เป็นการกระทำในนามส่วนตัว แต่ต้องทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ามีผู้สนใจมาลงทุนในโรงแรมดาราเทวีอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขหนี้ของบริษัท"นายวิชัยกล่าว
          
นาย Zhan Tao ตัวแทนจากกองทุน Jade Bird Fund กล่าวว่า บริษัทได้ศึกษาข้อมูลของ IFEC มาพอสมควร โดย IFEC ประกอบธุรกิจที่น่าลงทุน และมีหลายโครงการที่น่าสนใจ เช่น พลังงานลม และโรงแรมดาราเทวี ซึ่งตอบโจทย์ของบริษัทที่กำลังหาโอกาสการเข้าลงทุนในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการลงทุนในไทยมาก่อน โดยคาดว่าจะสรุปแผนการลงทุนได้ภายใน 2 เดือน ซึ่งมีบริษัทขนาดใหญ่ในจีนสนใจมาร่วมทุนด้วยอีก
          
สำหรับกองทุน Jade Bird Fund เป็นกองทุนที่มีมูลค่าบริษัท 20,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในจีน รวมถึงโครงการของรัฐบาลจีนด้วย
          
นายวิชัย ยังกล่าวถึงการจดทะเบียนแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่เพิ่มเติมต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า น่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทันภายใน 14 วันหลังประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา เพราะขณะนี้ได้ยื่นเอกสารต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว โดยหลังจากการประชุมวิสามัญเลือกกรรมการคณะกรรมการแล้ว บุคคลที่ได้รับเลือกได้ส่งเอกสารครบเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งมีความล่าช้าพอสมควร และจำเป็นต้องตรวจสอบว่าคณะกรรมการใหม่มีคุณสมบัติถูกต้องหรือไม่
          
"โดยส่วนตัวไม่มีความตั้งใจจะยื้อเวลาอย่างแน่นอน เพราะหากจะยื้อเวลาคงไม่เร่งให้เกิดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2 เพราะต้องการคณะกรรมการใหม่โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม หากไม่ยื่นตามกรอบ 14 วัน ตามกฎหมายไม่มีผลกระทบ เพราะสามารถยื่นล่าช้าได้"นายวิชัยกล่าว
          
ส่วนการปลดเครื่องหมาย SP หุ้น IFEC นั้น นายวิชัย กล่าวว่า ส่วนตัวต้องการปลดเครื่องหมาย SP เช่นกัน แต่ทิศทางของบริษัทขณะนี้ยังไม่ชัดเจน และหากปลดยังไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยอยากให้มีทิศทางการแก้ปัญหาหนี้ให้ชัดเจนก่อน จากที่ได้ศึกษาพบว่าเครื่องหมาย SP สามารถอยู่ได้ 180 วัน ซึ่งบริษัทถูกขึ้น SP ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.60 จึงยังมีเวลาอีกมากที่จะสร้างความชัดเจน 
          
นายวิชัย ระบุว่า มีความสนใจเข้าซื้อหุ้นของ IFEC เพิ่มหลังปลดเครื่องหมาย SP หากบริษัทสามารถแก้ไขปัญหาภายในและมีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน
          
ส่วนปัญหาหนี้ตั๋วบี/อีในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการชำระและขอต่ออายุตั๋ว B/E มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 1,800 ล้านบาท ซึ่งในเดือน มี.ค. จะมีตั๋ว B/E ครบกำหนดชำระอีกหลักร้อยล้านบาท ซึ่งมีแนวคิดจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทั้งหมด 3,000 ล้านบาท ให้รับรู้แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ทั้งหมดเพื่อเรียกความเชื่อมั่น 

MALEE

MALEE เล็งฐานตลาดต่างประเทศหนุนยอดขาย โบรกฯ คาด ROE สูงเกิน 30%




SET index ส่งท้ายเดือนก.พ. และวันสุดท้ายของการประกาศผลประกอบการงวดปี 2559  ของบริษัทจดทะเบียนไทย ดัชนีฯ แกว่งตัวในกรอบแคบ พอร์ตนักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิต่อเนื่องอีก 1,104 ล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนสถาบันที่ซื้อสุทธิ 1,181 ล้านบาท

ในภาวะตลาดที่ขาดปัจจัยหนุนชัดเจน ยังมีการเก็งกำไรหุ้นที่กำลังมีข่าวดี และ/หรือ มีปัจจัยทางเทคนิคระยะสั้นเข้าสนับสนุน ซึ่งรวมถึงหุ้น “มาลีกรุ๊ป”  (MALEE) ล่าสุด ผู้บริหารมางาน Opportunity Day เพื่อพบปะนักลงทุนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะบริษัทฯ เตรียมกำหนดวันแตกพาร์อย่างเป็นทางการ หลังบอร์ดอนุมัติเปลี่ยนแปลงพาร์จากเดิมหุ้นละ 1 บาท เป็นหุ้นละ 0.50 บาท ซึ่งจะทำให้จำนวนหุ้น เพิ่มจาก 140 ล้านหุ้น เป็น 280 ล้านหุ้น

“ไพฑูรย์ เอี่ยมศิริกุลมิตร” เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารงานกลาง MALEE ได้ตอกย้ำถึงทิศทางยอดขายปี 2560 จะเติบโต 10-15% โดยมาจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยกลยุทธ์ 3 ปี (2559-61) จะเน้นเพิ่มสัดส่วนส่งออกขึ้นมาเป็น 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 39%

แผนดังกล่าวใช้เงินลงทุน 1.5 พันล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุนเพื่อเพิ่มความสามารถทำกำไรให้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 คาดหวังอัตรากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% จากสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 8.06% ส่วนยอดขายปี 2561 คาดจะเพิ่มขึ้นแตะ 1 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 2559 ที่ทำได้ 6.57 พันล้านบาท 

สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศฟิลิปปินส์ ผู้บริหารคาดว่าจะสามารถหยุดขาดทุน (Break-even) ได้ภายในปี 2562 หลังจากที่ได้ทำการตลาดใหม่ และธุรกิจเริ่มมีผลการดำเนินงานดีขึ้น ซึ่งการทำตลาดในฟิลิปปินส์จะยังคงใช้ความระมัดระวังมากขึ้น หลังจากที่ออกสินค้ากาแฟแล้วมีการแข่งขันสูงมาก

MALEE ยังอยู่ระหว่างศึกษาการร่วมทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

ด้านมุมมองโบรกเกอร์ เริ่มจาก "ซีไอเอ็มบี" นักวิเคราะห์ระบุว่า กำไรในไตรมาส 4 ที่ประกาศออกมาถือว่าเติบโตตามคาด แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากฤดูกาล และช่วงไว้อาลัย โดยยังให้มุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการส่งออกของบริษัทฯ โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมะพร้าว รวมทั้งยังมีปัจจัยบวกจาก สินค้าใหม่จากบริษัทร่วมทุน 2 แห่ง นักวิเคราะห์ให้ราคาเป้าหมาย 137 บาท

ส่วน “ทิสโก้” ให้ราคาเป้าหมาย 140 บาท ประมาณการปี 2560-61 ยอดขายเติบโตเฉลี่ยปีละ 16% อยู่ที่ 7,664 ล้านบาท และ 8,839 ล้านบาท ตามลำดับ นักวิเคราะห์คาดยอดขายในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9% จากการออกสินค้าเพิ่มรสชาติใหม่ทุกปี และจากยอดส่งออกจะเติบโต 20% ต่อเนื่องจากน้ำมะพร้าวที่กำลังเติบโตเป็นที่นิยมในยุโรปและอเมริกา

สำหรับยอดขายที่ฟิลิปปินส์ คาดว่าเพิ่มขึ้นจากแผนเปิดตัวสินค้าใหม่อีก 2 ผลิตภัณฑ์ โบรกเกอร์รายนี้คาดกำไรสุทธิในปี2560-61 เติบโตเฉลี่ยปีละ 21% มีมุมมองบวกต่อหุ้นเนื่องจากแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดแถบเอเชียเพิ่มขึ้น รวมถึงโอกาสจับมือพันธมิตรและลูกค้ารับจ้างผลิตต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น MALEE ยังมีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ในปีนี้ที่สูงถึง 37% มากกว่ากลุ่มเครื่องดื่มเฉลี่ยที่อยู่ 24% 

ด้านโบรกเกอร์ “เออีซี” มองการประกาศแตกพาร์จากเดิมหุ้นละ 1.00 บาท เป็น 0.50 บาท แม้จะไม่กระทบต่อพื้นฐานแต่การมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขาย แต่ MALEE มี “Downside Risk” ในแง่การเติบโตระยะยาว เพราะความไม่มั่นคงของลูกค้าในกลุ่มรับจ้างผลิต ขณะราคาหุ้นปัจจุบันไม่เหลือ “Upside” จากมูลค่าพื้นฐานปี 2560 ที่ 87.25 บาท (คำนวณวิธี DCF) ซึ่งหลังแตกพาร์ นักวิเคราะห์คาดมูลค่าพื้นฐานจะปรับลดลงเป็น 43.50 บาท

วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

TISCO

TISCO นิวไฮ ปลดล็อกหนี้เสีย ตุนพอร์ตสร้างรายได้โตต่อเนื่อง




มาที่หุ้นผลประกอบการแกร่ง ควบปันผลเด่น อย่าง TISCO ราคาหุ้นระหว่างวัน (จันทร์ 27 ก.พ.) แตะนิวไฮนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2552 ถือเป็นการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ที่ราคาหุ้นบวกถึง 41% (Outperform กลุ่มแบงก์ที่บวก 16%) ก่อนมาในปีนี้ หุ้นบวกขึ้นมาอีกกว่า 10% Year-To-Date

ในสัปดาห์ที่แล้ว (พฤหัสฯ 23 ก.พ.) TISCO รายงานกำไรสุทธิงวดปี 2559 อยู่ที่ 5,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 4,250 ล้านบาทในงวดปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 17% ถือเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับตลาดคาดการณ์ ซึ่งในปีนี้ นักวิเคราะห์คาดว่ากำไรจะยังเติบโตได้อีกราว 14% 

แต่ราคาหุ้น TISCO ปัจจุบันถือว่าขึ้นมาทะลุราคาเหมาะสมที่ตลาดประเมินไว้ (ผลสำรวจนักวิเคราะห์ในฐานข้อมูล “ธอมป์สัน รอยเตอร์” คาดราคาเหมาะสมเฉลี่ยที่ 66 บาท) ทำให้ยังน่าติดตามถึงโอกาสในการปรับประมาณการจากบรรดานักวิเคราะห์ ว่าจะอัพเดตแนวโน้มธุรกิจ การให้ “Upside” รวมถึงคำแนะนำว่าอย่างไรหลังจากนี้

ข่าวดีล่าสุดของหุ้น TISCO รวมถึงการประกาศปันผล เมื่อบอร์ดบริษัทฯ เตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 20 เมษายน 2559 สำหรับการจ่ายปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2559 แก่ผู้ถือหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิในอัตราหุ้นละ 3.50 บาท พร้อมกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 26 เม.ย. ก่อนจะจ่ายในวันที่ 12 พ.ค. 

บริษัทฯ ระบุกำไรที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลัก รวมทั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่ลดลง รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น และการบริหารจัดการต้นทุน

ในปี 2559 TISCO ตั้งสำรองหนี้สูญลดลง 24.7% เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น พร้อมระบุว่า จะยังตั้งสำรองหนี้สูญอยู่ในระดับที่ระมัดระวัง โดยส่วนหนึ่งมาจากการตั้งสำรองหนี้สูญส่วนเกินเพื่อรองรับความผันผวนทางธุรกิจตามสภาวะเศรษฐกิจ

ประเด็นที่จับตา คือ NPLs หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ พบว่ายังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทฯ ระบุว่าเป็นไปตามคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อธุรกิจ ตามการควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ TISCO ยังได้มีการปรับชั้นลูกหนี้ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ออกจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นลูกหนี้ชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้อัตราส่วน หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2559 ลดลงจาก 3.23% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 2.54% และสัดส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพิ่มขึ้นมาที่ 139.8%

ปี 2559 บริษัทฯ ตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ และรายการขาดทุนจากการด้อยค่ารวม จำนวน 3,972 ล้านบาท คิดเป็น 1.72% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับ 5,277 ล้านบาทในปี 2558

บทวิเคราะห์ “บัวหลวง” ในเดือนนี้ อัพเดตตัวเลขสินเชื่อสุทธิของ TISCO ในเดือนม.ค. พบว่าอ่อนตัวลง แต่ถือว่าเป็นไปตามคาด โดยสินเชื่อสุทธิอยู่ที่ 2.15 แสนล้านบาท ลดลง 1.1% M/M และ 6.7% Y/Y สินเชื่อรายย่อยลดลง 0.9% M/M  สินเชื่อเอสเอ็มอีลดลง และ 16.2% M/M ขณะสินเชื่อบรรษัทเติบโต 3.6% M/M นักวิเคราะห์คาดว่าแนวโน้มสินเชื่อจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยในครึ่งแรกของปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2559 ก่อนจะกลับมาฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดในไตรมาส 3/60 จากดีลการเข้าซื้อพอร์ตสินเชื่อของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ตเตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT ก่อนหน้านี้

นักวิเคราะห์ “บัวหลวง” คาดว่าดีลดังกล่าวน่าจะช่วยให้ TISCO ไม่ต้องเร่งหาการเติบโตของสินเชื่อใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจยังคงชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ 

ส่วนเรื่องภาวะหนี้เสีย คาดว่า TISCO จะตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯ ที่ 3.7 พันล้านบาทในปี 2560 หรือราว 1.5% ของสินเชื่อรวม โดยนักวิเคราะห์ระบุการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯ ที่ลดลง อาจหมายถึง “Upside” ต่อประมาณการกำไรในปี 2560 และปี 2561

MILL

MILL เพิ่มทุนขาย PP-แจกวอร์แรนท์ 10 ต่อ 1

หุ้น MILL เช้านี้ร่วงลงกว่า 4% หลังประกาศเพิ่มทุนขาย PP จำนวน 200 ล้านหุ้น พร้อมออกวอร์แรนท์แจกฟรีผู้ถือหุ้นเดิม 10:1  หลังก่อนนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่เสนอทำเทนเดอร์หุ้นละ 1.80 บาท ขณะที่กำไรปี 59 ลดลง 42% 

บมจ.มิลล์คอน สตีล (MILL) แจ้งว่า  บอร์ดมีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท  242.18 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 605.45 ล้านหุ้น  มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.40 บาท จากเดิม ทุนจดทะเบียน1,872 ล้านบาท 

รวมทั้งให้ออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 4 ในจำนวนไม่เกิน 405,446,716 หน่วย ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นโดยไม่คิดมูลค่า ในอัตราส่วน 10 หุ้นสามัญใหม่ต่อใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วย โดยใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วย สามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัทได้ 1 หุ้น ในราคาหุ้นละ 2.20 บาท

MILL ระบุว่า  จะเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 80 ล้านบาท  โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน  200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.40 บาท  คิด 4.93% ของหุ้นที่ชำระแล้ว  เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นในวงจำกัด (Private Placement) 

ส่วนที่เหลืออีก 405.45 ล้านหุ้น  มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.40 บาท จะใช้เพื่อรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 4 ซึ่งเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท

วัตถุประสงค์ของการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อรองรับการขยายกิจการของบริษัทและ/หรือ ใช้เป็นทุนหมุนเวียน และ/หรือ การจ่ายคืนหนี้


MILL ยังแจ้งผลประกอบการงวดปี 2559 มีกำไรสุทธิ 395.5 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.10 บาท ลดลง 42% จากปีก่อนที่กำไร 683.9 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.21 บาท

ก่อนหน้านี้ MILL แจ้งว่า  ผู้ถือหุ้นใหญ่  MILL  "สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล"  ได้เสนอยื่นทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นของบริษัท  29.99%  ในราคาหุ้นละ 1.80 บาท สูงกว่าราคาในกระดาน โดยตั้งเป้าเข้าถือ 49% 

พร้อมยืนยันไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ และจะไม่เพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์

RPH

RPH เทรดวันแรก เปิดเหนือจอง25%

หุ้นโรงพยาบาลราชพฤกษ์ ในจังหวัดขอนแก่น ในชื่อย่อ RPH เข้าซื้อขายใน SET วันนี้วันแรก (27 ก.พ.) เปิดตลาดที่ 6.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.20 บาท หรือ 25%   จากราคา IPO หุ้นละ 4.80 บาท
  
บมจ.โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ใช้ชื่อย่อ RPH เข้าซื้อขายใน SET ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจการแพทย์ โดยกำหนดวันที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนและวันเริ่มทำการซื้อขาย ในวันที่ 27 ก.พ.60 มีจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลท.และหุ้นชำระแล้ว จำนวน 546 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท ทุนชำระแล้ว 546 ล้านบาท

RPH   เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 163.78 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 4.80 บาท    

RPH ประกอบกิจการสถานพยาบาลประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนภายใต้ชื่อ "โรงพยาบาลราชพฤกษ์" โดยให้บริการครอบคลุมจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโดจีน
-

BANPU

BANPU แนวโน้มยังสดใสตามราคาถ่านหิน ผนึกส่วนแบ่งกำไร 3 ธุรกิจ

มาเกาะติดหุ้น BANPU ที่ยังเผชิญแรงขายสกัด (ศุกร์ 24 ก.พ.) แม้ผลดำเนินงานงวดปีล่าสุดจะสามารถพลิกกลับมาเป็นกำไร รับอานิสงส์ราคาถ่านหินฟื้นต่อเนื่อง

BANPU รายงานผลประกอบการงวดปี 2559 (ปิดตลาดพฤหัสฯ 23 ก.พ.) พลิกเป็นกำไรที่ 1,677 ล้านบาท จากที่เคยขาดทุนสุทธิ 1,534 ล้านบาทในปี 2558 สาเหตุหนุนกำไรมาจากราคาถ่านหินตลาดโลกที่เริ่มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนก.ค.ปี 2559 หลังจากที่ลดลงมาตลอดตั้งแต่ปี 2556 

อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิงวดทั้งปี 2559 ยังถือว่าต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 1,869 ล้านบาท (ฐานข้อมูลธอมป์สัน รอยเตอร์) จนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความลังเลในการเข้าลงทุนเพิ่ม หรือกดดันให้เกิดแรงขายสลับออกมา หลังจากราคาหุ้นบวกรับข่าวการพลิกมีกำไรในช่วงแรกหลังเปิดตลาดภาคเช้า

ในรายละเอียดของผลประกอบการ จากรายงานที่บริษัทฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นมาจากการปรับตัวดีขึ้นจากธุรกิจถ่านหินเป็นหลัก และรวมถึงค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ฯ จำนวน 9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มหลังจากบรรลุข้อตกลงร่วมกันสำหรับประเด็นข้อโต้แย้งทางภาษีที่มีมายาวนานในออสเตรเลียนับตั้งแต่ก่อนปี 2553

โดยกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) งวดปี 2559 อยู่ที่ 540 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2558 ซึ่งประกอบด้วย :

EBITDA จากธุรกิจถ่านหิน จำนวน 378 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8%

EBITDA ธุรกิจไฟฟ้า 155 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 31%

และ EBITDA ธุรกิจก๊าซ 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ราคาถ่านหินที่ฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2559 โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ช่วยหนุนผลการดำเนินงานของธุรกิจถ่านหิน โดยในไตรมาส 4/2559 แต่ธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซียบันทึกยอดขายจำนวน 6.38 ล้านตัน ลดลง 5% จากไตรมาสก่อนหน้า ด้วยราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 22% เป็น 62.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน บริษัทฯ ระบุประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้นจากต้นทุนขายที่ลดลงที่เหมือง Indominco หนุนอัตราการทำกำไรขั้นต้นเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 50% จาก 36% ในไตรมาสก่อนหน้า

สำหรับธุรกิจถ่านหินในจีน ผลการดำเนินงานดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ตามราคาขายถ่านหินในประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจำนวน 31.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับส่วนแบ่งกำไรจำนวน 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาสก่อนหน้า

ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้า บริษัทฯ รายงานผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในจีน ที่รับรู้กำไร 8.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า BLCP จำนวน 9.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะโรงไฟฟ้าหงสา มีส่วนแบ่งกำไรจำนวน 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2560 ได้อนุมัติให้เสนอจ่ายเงินปันผลอัตรา 0.25 บาทต่อหุ้น พร้อมกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 10 เม.ย. โดยเป็นการจ่ายปันผลจากงวดดำเนินงานวันที่ 1 ก.ค. 2559 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2559  และกำไรสะสม

บอร์ด BANPU ยังได้อนุมัติการเพิ่มทุน เพื่อรองรับการปรับสิทธิของหลักทรัพย์แปลงสภาพ (BANPU-W3) ด้วยจำนวนหุ้นที่จัดสรร 3 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 1.00 บาท

โบรกเกอร์ “บัวหลวง” มองกำไรสุทธิงวด 4Q/59 ดีกว่าที่คาด 30-40% และคาดโมเมนตัมของกำไรจะยังคงแข็งแกร่งใน 1Q/59 จากราคาถ่านหินที่ยังสูง นักวิเคราะห์ให้ราคาเป้าหมาย BANPU ที่ 23 บาท

ด้าน “เมย์แบงก์ กิมเอ็ง” คาดกำไรสุทธิ BANPU งวดปี 2560 จะเติบโตสูงถึง 311% มาอยู่ที่ 9,116 ล้านบาท จากการรับรู้ผลประโยชน์เต็มที่ของราคาถ่านหินที่ปรับตัวขึ้นในปี 2559 ทีผ่านมา ซึ่งจะสะท้อนเข้าสู่รายได้ในปี 2560 ขณะมูลค่าหุ้นมองว่ายังไม่แพง จาก P/E ปี 2560 ที่ 11.0 เท่า นักวิเคราะห์ให้ราคาเหมาะสม 22.20 บาท

ส่วนโบรกเกอร์ “เคจีไอ” ให้ราคาเป้าหมาย 23.60 บาท เนื่องจากแนวโน้มปี 2560 ฟื้นตัวโดดเด่นตามราคาถ่านหิน และได้อานิสงส์นโยบายจีนที่ควบคุมการผลิตภายในประเทศ รวมทั้งการยกเลิกการนำเข้าถ่านหินจากเกาหลีเหนือ ซึ่งคิดเป็น 10% ของปริมาณถ่านหินที่ใช้ นักวิเคราะห์ยังได้ประเมินกำไรส่วนเพิ่มต่อปีไว้ที่ 121 ล้านบาท และมูลค่าพื้นฐานส่วนเพิ่มไว้ที่ 1.14 บาทต่อหุ้น จากการเข้าซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แห่งในสหรัฐฯ

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

APCO

APCO โชว์ผลประกอบการปี 59 กำไรพุ่ง 131.42 ล้านบาท




APCO โชว์ผลประกอบการปี 59 กำไรพุ่ง 131.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.60% เตรียมจ่ายปันผล 100% หกปีซ้อน ได้ฤกษ์ลุย Digital Marketing เจาะตลาดต่างประเทศ ชูผลิตภัณฑ์ LIV เจาะกลุ่มผู้ป่วยภาวะติดเชื้อ HIV พร้อมเดินหน้างานวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Operation BIM ภายใต้โครงการ APCO 4.0 ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 460 ล้านบาท โตอย่างน้อย 10% 
ศ.ดร.พิเชษฐ์  วิริยะจิตรา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APCO เจ้าของธุรกิจนวัตกรรมธรรมชาติเพื่อสุขภาพและความงามด้วยการวิจัย พัฒนา ผลิต และจำหน่ายครบ เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2559 ของบริษัทมีการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยบริษัทมีรายได้รวม 421.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 409.25 ล้านบาท จำนวน 12.13 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.96%
ขณะที่กำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 131.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 100.62 ล้านบาท จำนวน 30.80 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30.60% รายได้ทั้งปียังเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วด้วยการขยายช่องทางการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ Operation BIM ผ่าน รายการโทรทัศน์ “ภูมิสมดุลเพื่อสุขภาพ” และ “สุขอย่างเสรี” รวมถึงช่องทาง Social Media อย่าง Facebook Fanpage ภูมิสมดุล ส่งผลให้ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในประเทศเพิ่มขึ้นทั้งช่องทาง Direct Service และ Call Center 1154 
“แผนการรุกตลาดในประเทศจะเน้นการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องการรักษาเต้านมไว้โดยไม่ต้องผ่าตัด ปัจจุบันในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นถึงสัปดาห์ละ 400 คน สำหรับตลาดต่างประเทศ บริษัทได้จับมือกับบริษัทที่เชี่ยวชาญด้าน Digital Marketing เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 50:50 ภายในไตรมาส 1 นี้ โดยจะนำผลิตภัณฑ์ LIV ดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ไปแนะนำให้กลุ่มผู้ใช้รู้จักพร้อมจำหน่ายในประเทศต่างๆทั่วโลก คาดว่าการจำหน่ายผ่านช่องทางนี้ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้ของบริษัทให้มีการเติบโตด้วยเช่นกัน” ศ.ดร.พิเชษฐ์ กล่าว
นอกจากนี้บริษัทยังคงเดินหน้าสร้างแบรนด์ Operation BIM และเผยแพร่งานวิจัย ให้เป็นที่รู้จักและเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคต่อเนื่อง โดยขณะนี้ทีมวิจัยอยู่ระหว่างร่วมมือกับสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อเสริมประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เดิมให้ตอบสนองการดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น และครอบคลุมความต้องการเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้มากขึ้นภายใต้ “โครงการ APCO 4.0” 

สำหรับเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 10% หรือมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 460ล้านบาท ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ได้รับการตอบรับทั้งกลุ่มผู้ใช้เดิม และกลุ่มผู้ใช้ใหม่มากขึ้นอย่างชัดเจน บริษัทจึงได้วางแผนการตลาดขยายฐานกลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศ และต่างประเทศออกไปอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์หลากหลายช่องทาง เช่น รายการโทรทัศน์ Social Media และ Digital Marketing เพื่อสร้างยอดจำหน่ายให้เติบโตขึ้น 
ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.043 บาท หรือคิดเป็น 100% ของกำไรสุทธิ ซึ่งถือเป็นปีที่ 6 ที่บริษัทจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตรา 100% อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทจะกำหนดวัน Record Date วันที่ 27 เม.ย.60 และปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 เม.ย.60 และจ่ายปันผลในวันที่ 9 พ.ค.60  นี้

BA

BA ยื่นขอจัดตั้งสนามบินแห่งใหม่ อีก 2 แห่ง





ผู้บริหาร บมจ.การบินกรุงเทพ ยืนยันปัญหาที่ดินสนามบินสมุย จะไม่กระทบธุรกิจหากถูกยึดคืน พร้อมเปิดเผยแผนเดินหน้าลงทุนสนามบินแห่งใหม่ 2 แห่ง 

นายพุฒิพงษ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่  บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ 2 แห่ง ซึ่งแบ่งเป็นสนามบินในประเทศ 1 แห่ง และในกลุ่มประเทศอินโดไชน่าอีก 1 แห่ง โดยรายละเอียดเบื้องต้น ยังไม่สามารถเปิดเผย แต่หากจะต้องลงทุนจริง มั่นใจว่าจะมีแหล่งเงินเพียงพอ โดยไม่ต้องเพิ่มทุนแต่อย่างใด

สำหรับเป้าหมายธุรกิจในปีนี้ ตั้งเป้ารายได้รวมโต 12-13% จากที่ทำได้ 26,765.8 ล้านบาทในปีก่อน พร้อมกับตั้งเป้าอัตราการเติบโตของผู้โดยสารในจะอยู่ที่ 12-13% ส่วนอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) ตั้งเป้าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 72%จาก 69% ในปีก่อน

การเติบโตดังกล่าว จะมาจากแผนเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเปิดเส้นทางบินใหม่ 5 เส้นทางในปีนี้ โดยเส้นทางแรก ได้เปิดให้บริหารไปแล้วเมื่อต้นปีคือ สมุย-กวางโจว (จีน) ส่วนอีก 4 เส้นทางที่เหลือ คือ เชียงใหม่-เวียงจันทร์ ,เชียงใหม่-พุกาม, กรุงเทพฯ- นครราชสีมา, กรุงเทพฯ - ฟู้ก๊วก (เวียดนาม) อยู่ระหว่างขออนุมัติจากหน่วยงานของแต่ละประเทศ

ในปีนี้ บริษัทยังเตรียมรับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 5 ลำ เพื่อรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นด้วย 
ส่วนความคืบหน้าล่าสุด กรณีปัญหาที่ดินจำนวน 16 ไร่ เหนือรันเวย์ท่าอากาศยานนานาชาติเกาะสมุย ซึ่งบริษัทเช่าต่อจากกรมธนารักษ์ แต่ถูกท้วงติงว่าเป็นที่สาธารณะ ซึ่งกรมธนารักษ์ไม่สามารถนำมาปล่อยเช่าได้นั้น ผู้บริหารบอกว่าขณะนี้ ยังไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมธนารักษ์หรือกรมที่ดิน ที่จะเข้ามาตรวจสอบที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนของบริษัทเอง ก็กำลังรอความชัดเจนในเรื่องนี้อยู่

อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าพื้นที่ดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ตั้งรันเวย์และ เขตขอบทางวิ่ง หรืออาคารผู้โดยสาร โดยบริษัทได้เช่าต่อจากกรมธนารักษ์ เพื่อเป็นพื้นที่เขตความปลอดภัยเพิ่มเติมจากเขตความปลอดภัยเดิมที่มีอยู่ โดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้น หากจะโดนเรียกคืน ก็ไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีผลต่อความปลอดภัยการบินด้วย
 

MILL

ผู้ถือหุ้นใหญ่ MILL เคาะเทนเดอร์ 1.80 บ. สูงกว่ากระดาน 





ผู้ถือหุ้นใหญ่  MILL  "สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล" ยื่นทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์  29.99% เคาะซื้อหุ้นละ 1.80 บาท สูงกว่าราคาในกระดาน ตั้งเป้าเข้าถือ 49% พร้อมยืนยันไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ ไม่เพิกถอนจากตลาด 

บมจ.มิลล์คอน สตีล  (MILL) แจ้งว่า บริษัทได้รับหนังสือแจ้งความประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อบางส่วน (Voluntary Partial Tender Offer) จากนายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ได้แก่ หุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิที่มีจำนวนรวมไม่เกิน 1,215,919,539 หุ้น หรือ 29.99% ของหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด  ในราคาเสนอซื้อเดียวกันหุ้นละ 1.80 บาท  

MILL ระบุว่า  ราคาเสนอซื้อหุ้นสามัญละ  1.80 บาท เป็นราคาสูงกว่าราคาตลาดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นสามัญย้อนหลัง 15 วันทำการ  ที่ราคา 1.60 บาทต่อหุ้นสามัญ และสูงกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชีต่อหุ้นของบริษัท ณ สิ้นปี พ.ศ. 2559 (31ธันวาคม 2559) ที่ราคา 1.56 บาทต่อหุ้นสามัญ และที่ราคา 1.42 บาทต่อหุ้น

สำหรับหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทเนื่องจากไม่ได้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จึงไม่สามารถคำนวณหาราคาตลาดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักได้

ปัจจุบันนายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท  โดยกลุ่มนายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล  ถือหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิรวมกันจำนวน 770,769,368 หุ้น หรือ 19.01% 

หลังการทำคำเสนอซื้อหุ้นบางส่วน หากมีผู้ถือหุ้นตอบรับคำเสนอซื้อเต็มตามจำนวนที่เสนอซื้อ นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล และบุคคลที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 258 จะมีจำนวนหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิรวม 1,986,688,907 หุ้น คิดเป็น  49% ของหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิที่จำหน่ายแล้วของบริษัท

MILL ยืนยันว่า นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ไม่มีแผนจะเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ นโยบายการดำเนินธุรกิจ และแผนประกอบธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด และจะยังคงให้การสนับสนุนการดำเนินงานของผู้บริหารเดิม รวมถึงจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริษัทเพิ่มเติม 

อีกทั้งไม่มีความประสงค์ทจะเปลี่ยนแปลงนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท และไม่มีนโยบายเพิกถอนบริษัทออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ

หลังจากนี้ MILL  จะได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินอิสระจัดทำความเห็นเกี่ยวกับคำเสนอซื้อและราคาเสนอซื้อดังกล่าวเพื่อให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาต่อไป ซึ่งจะจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน 2560 และจะแจ้งกำหนดที่แน่นอนต่อตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

ราคาหุ้น MILL ล่า สุด 14.41 น.  อยู่ที่ 1.74 บาท เพิ่มขึ้น 6.10%

RPH

หุ้นรพ.ราชพฤกษ์ เข้าเทรด SET จันทร์ 27 ก.พ.




หุ้นโรงพยาบาลราชพฤกษ์ ในจังหวัดขอนแก่น ในชื่อย่อ RPH จะเข้าซื้อขายใน SET วันจันทร์ที่ 27 ก.พ.นี้  ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ  หมวดธุรกิจการแพทย์ ด้วยราคา IPO หุ้นละ 4.80 บาท

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รับหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญของบมจ.โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ใช้ชื่อย่อ RPH เข้าซื้อขายใน SET ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ  หมวดธุรกิจการแพทย์ โดยกำหนดวันที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนและวันเริ่มทำการซื้อขาย ในวันที่ 27 ก.พ.60 มีจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลท. และหุ้นชำระแล้ว จำนวน 546 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท ทุนชำระแล้ว 546 ล้านบาท 

ขณะที่บริษัทได้เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 163.78 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 4.80 บาท 
          
RPH ประกอบกิจการสถานพยาบาลประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนภายใต้ชื่อ "โรงพยาบาลราชพฤกษ์" โดยให้บริการครอบคลุมจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโดจีน

ผลการดำเนินงานปี 59 มีกำไรสุทธิ  67.9 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.18 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 44.99 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.23 บาท

TFG

TFG กำไรพุ่ง 192% แจกวอร์แรนท์ฟรี 10 ต่อ 1





TFG ปี 59 กำไรพุ่งทะยาน 192% ผลจากยอดขายไก่และหมูเพิ่มตามกำลังการผลิตที่ขยาย ขณะที่ยังมีผลขาดทุนสะสมทำให้ต้องงดปันผล พร้อมประกาศแจกฟรีวอร์แรนท์ TFG-W2 ให้ผู้ถือหุ้นเดิม 10:1

บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) แจ้งผลการดำเนินงานปี 2559 มีกำไรสุทธิ 1,446.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 191.90% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 1,574.31 ล้านบาท 

ส่วนรายได้รวมในปี 2559 มีจำนวน 20,779.59ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.69% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 17,508.07ล้านบาท 

TFG ชี้แจงว่า กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ของธุรกิจไก่และธุรกิจสุกรที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้จากธุรกิจไก่เพิ่มขึ้น 20.97% จากปีก่อน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการขยายกำลังการผลิตและจำหน่ายทั้งในธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์ม และผลิตภัณฑ์ไก่ เพื่อรองรับความต้องการในประเทศและการส่งออก


นอกจากนี้ ต้นทุนขายสินค้าและต้นทุนการให้บริการลดลงจากการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่รดจ่ายเงินปันผลปี2559 จากที่ยังมีขาดทุนสะสม โดยตามงบการเงินรวมมีจำนวน 77,739,594 บาท และงบการเงินเฉพาะกิจการมีจำนวน 402,540,491 บาท 

บอร์ด TFG ยังอนุมัติออกและจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2 หรือ TFG-W2 เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยไม่คิดมูลค่า จำนวนไม่เกิน 510,866,470 หน่วยให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) ในอัตราส่วน  หุ้นสามัญเดิม  10 หุ้น ต่อ1 หน่วย TFG-W2 (10:1) โดยราคารพาร์ปัจจุบันหุ้นละ1 บาท

ดังนั้น  TFG-W2 จำนวน 1 หน่วย มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัท  1 หุ้น (1:1)และราคาใช้สิทธิเท่ากับ 9.5 บาทต่อหุ้น 

TFG ระบุว่า วัตถุประสงค์การออก  TFG-W2 เพื่อเพิ่มฐานทุนของบริษัท ให้มีสภาพคล่องมาก รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้บริษัท

นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ในวงเงินไม่เกิน 6,000  ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจของบริษทั และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต

หุ้น TFG  ใช้เวลา ราว 1 ปี พุ่งขึ้นกว่า 400% ด้วยสตอรี่ Turnaround โดยเริ่มไต่ราคามาตั้งแต่ 1.18 บาท เมื่อวันที่ 16 มี.ค.59 และขึ้นไปทำนิวไฮที่ 7.80 บาท เมื่อวันที่ 28 พ.ย.59

หุ้นTFG  วันนี้ปรับตัวลง โดยล่าสุด 11.30 น. อยู่ที่ 6.05 บาท ลดลง 0.20 บาท หรือ 3.20% 

BA

เปิดแผนบิน BA เพิ่มอีก 5 เส้นทางบิน

BA  หรือ บมจ.การบินกรุงเทพ เผยว่า วันจันทร์ที่ 27 ก.พ นี้ จะเข้าไปรับใบอนุญาตผู้ดำเนินการเดินอากาศหรือ AOC ตามมาตรฐานการบินใหม่ของ ICAO
เปิดแผนเส้นทางบินใหม่ 
BA คาดอัตราผู้โดยสารปี 60 จะเพิ่มขึ้น 12-13% ในขณะที่อัตราการขนส่งผู้โดยสารตั้งเป้าไว้ที่ 72% จาก 69% ในปีที่ผ่านมา
และในปีนี้มีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ 5 เส้นทาง โดยเปิดไปแล้ว 1 เส้นทางเมื่อต้นปีคือ สมุย-กวางโจว (จีน) ส่วนอีก 4 เส้นทางที่เหลือ คือ เชียงใหม่-เวียงจันทร์ ,เชียงใหม่-พุกาม, กรุงเทพฯ- นครราชสีมา, กรุงเทพฯ - ฟู้ก๊วก (เวียดนาม) ซึ่งอยู่ระหว่างขออนุมัติจากหน่วยงานของแต่ละประเทศ

BA ยังอยู่ระหว่างขออนุญาต เปิดให้บริการสนามบินแห่งใหม่อีก 2 แห่ง จาก 3 แห่งในปัจจุบัน
ปี 2560 เตรียมรับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 5 ลำ ได้แก่เครื่องแบบ ATR 72-600 จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส 319 จำนวน 3 ลำ ซึ่งจะทำให้ BA มีฝูงบินรวม 39 ลำ จาก 34 ลำในปัจจุบัน

CPF

คาด CPF กำไรปี 59 ทะยาน 34% ธุรกิจกุ้งพลิกฟื้น ตุรกีขาดทุนลดลง 



ถัดจาก CPALL ก็มาถึงคิวบริษัทแม่อย่าง CPF หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่โบรกเกอร์คาดว่าจะรายงานผลประกอบการงวดปี 2559 ในวันศุกร์ 24 ก.พ.นี้ กับความคาดหวังตัวเลขกำไรสุทธิที่ 14,906 ล้านบาท ตามผลสำรวจนักวิเคราะห์ในฐานข้อมูล “ธอมป์สัน รอยเตอร์”  จากปี 2558 ที่กำไร 11,059 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 34% พร้อมความคาดหวังของนักวิเคราะห์ที่ส่วนใหญ่ยังมองไปทางด้านบวกต่อแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ

ผลสำรวจนักวิเคราะห์คาดงวด 4Q/59 กำไรสุทธิของ CPF จะออกมาที่ 2,248 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,548 ล้านบาท ในงวดเดียวกันปีก่อนหน้า

โบรกเกอร์ “บัวหลวง” ระบุ CPF ยังคงเป็นหุ้นที่ชอบมากที่สุดในกลุ่มอาหาร โดยประเมินว่ากำไรสุทธิงวดไตรมาส 4/59 จะอยู่ที่ 2.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% Y/Y แต่ลดลง 58% Q/Q ซึ่งถ้าไม่รวมรายการอัตราแลกเปลี่ยนและรายการพิเศษอื่นๆ คาดว่ากำไรหลักจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.69 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 526% Y/Y แต่ลดลง 66% Q/Q 

โดยกำไรหลักที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด Y/Y เนื่องจากธุรกิจกุ้งไทยที่พลิกฟื้นกลับมาเป็นกำไร 300 ล้านบาทจากเคยขาดทุน 87 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน และมาจากผลขาดทุนในประเทศตุรกีที่ลดลง ถึงแม้ว่าอัตรากำไรของธุรกิจเนื้อสัตว์บกในไทยจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากราคาเนื้อสัตว์บกที่ปรับตัวลดลงก็ตาม 

ส่วนกำไรที่ลดลงเทียบไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากช่วงโลว์ซีซั่นของไตรมาส 4 จึงเป็นประเด็นที่ไม่น่ากังวล
 
“บัวหลวง” คาดแนวโน้มยอดขาย CPF ในปีนี้ จะถูกผลักดันจากการเติบโตของปริมาณยอดขาย มากกว่าราคาขายที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าภาวะการบริโภคเนื้อสัตว์และราคาเนื้อสัตว์ในประเทศยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนตัวลง แต่ด้วยภาวะที่ต้นทุนวัตถุดิบซึ่งทรงตัวในระดับต่ำจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนมาร์จิ้นของธุรกิจ

นักวิเคราะห์ระบุด้วยว่าการคาดการณ์ยังคงไม่คำนวณรวมการเข้าซื้อกิจการของ “Bellisio Foods” ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารแช่แข็งรายใหญ่ของสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว เข้ามาในงวดปี 2560 ซึ่งเชื่อว่าจะสร้าง upside และเป็นก้าวสำคัญครั้งใหญ่สำหรับ CPF สำหรับการเจาะตลาดในประเทศสหรัฐฯ 

“บัวหลวง” ปัจจุบันให้ราคาพื้นฐาน CPF ที่ 41 บาท

ด้าน "เคทีบี(ประเทศไทย)" นักวิเคราะห์คาดว่า CPF จะมีกำไรสุทธิในงวดไตรมาส 4/59 ที่ 2.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% แต่ลดลง 44% จากไตรมาสก่อนตามผลของฤดูกาล  ซึ่งการฟื้นตัวเป็นผลจากธุรกิจกุ้งที่ยังสร้างการเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปี 2559 คาดกำไรสุทธิจะแตะ 1.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% จากปีก่อนที่ทำได้ 1.1 หมื่นล้านบาท
 
ปัจจุบัน CPF เริ่มเบนแนวทางการเติบโตมาใช้การเข้าซื้อกิจการเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถเข้าถึงตลาดได้ทันที ได้เทคโนโลยีและความรู้ในการบริหารกิจการ และสามารถสร้าง synergy ระหว่างกลุ่มได้ในระยะยาว 

โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เริ่มรุกตลาดอาหารแช่แข็งในสหรัฐฯ ผ่านการเข้าซื้อ Bellisio และตลาดไก่ในยุโรปผ่านการลงทุนใน SuperDrop โดยมองการเข้าซื้อกิจการเป็นบวกและจะเริ่มเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักในการผลักดันการเติบโตของ CPF ในอนาคต หลังจากที่บริษัทฯ เผชิญกับแรงกดดันของการลงทุนในประเทศที่ไม่เคยลงทุนมาก่อน ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างแบรนด์

นักวิเคราะห์มองราคาสัตว์บกอ่อนตัว เป็นไปตามที่ตลาดคาดอยู่แล้ว ขณะที่ยังมองข้ามไปถึงผล Synergy ที่จะเกิดขึ้นจากดีลการเข้าซื้อกิจการ Bellisio ส่วนธุรกิจกุ้งของบริษัทฯ ก็มีความสามารถในการแข่งขันที่สูง 

“เคทีบี (ประเทศไทย)” ประเมินราคาเหมาะสม CPF ที่ 37 บาท 

ส่วนโบรกเกอร์ค่าย “ฟิลลิป” ที่ให้ราคาพื้นฐาน CPF 33 บาท นักวิเคราะห์คาดแนวโน้มการดำเนินงานปี 2560 จะถูกผลักดันการเติบโตจากธุรกิจใหม่ที่ซื้อมาในปีก่อนหน้า ขณะที่ธุรกิจในประเทศคาดว่ากุ้งยังมีการเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มไก่คาดว่าจะได้ผลบวกจากประเทศคู่ค้าอนุญาตนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย ส่วนการดำเนินงานจากธุรกิจในต่างประเทศอื่น ๆ ที่มีอยู่ คาดว่าผลการดำเนินงานจะดีขึ้นโดยเฉพาะตุรกี เนื่องจากผลของการปรับลดขนาดธุรกิจลง ขณะที่แนวโน้มราคาเนื้อสัตว์คาดจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่นเดียวกับต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

“ฟิลลิป” ประมาณการยอดขายปี 2560 ของ CPF จะเพิ่มขึ้น 12% มาที่ 521,331 ล้านบาท มองแนวโน้มมาร์จิ้นอ่อนตัวลงเล็กน้อย ส่วนดอกเบี้ยจ่ายจะเพิ่มขึ้นจากเงินกู้ที่มากขึ้นตามการซื้อธุรกิจใหม่ที่ค่อนข้างมากในปีก่อนหน้า พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิอยู่ที่ 14,263 ล้านบาท ลดลง 7%

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

KBANK

KBANK ปันผลงวดปี59เพิ่ม 3.50 บาท

บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แจ้งจ่ายเงินปันผลปี 59 งวดสุดท้ายเพิ่มอีก 3.50 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD)  7 เม.ย. 2560 วันที่จ่ายปันผล  28 เม.ย. 2560

KBANK จ่ายระหว่างกาลไปแล้วเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559 หุ้นละ 0.50 บาท โดยคิดเป็นเงินปันผลทั้งปี 59 รวมหุ้นละ 4.00 บาท
 

SCN

SCN ลุยขยายสถานีก๊าซธรรมชาติดันรายได้ปี 60

SCN  ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติครบวงจร ตั้งเป้าผลงานปี 2560 เติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า  40% หลังมองเห็นสัญญาณความต้องการก๊าซธรรมชาติในประเทศสูงขึ้น พร้อมรุกแผนขยายสถานี NGV หนุนรายได้เติบโต

นายฤทธี กิจพิพิธ กรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ.สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เปิดเผยว่า การเติบโตในปีนี้จะมาจากการขยายธุรกิจสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ อีกไม่ต่ำกว่า 9 สถานี โดยเป็นการเข้าซื้อกิจการสถานีบริการก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ 3 สถานี  ก่อสร้างเอง 3 สถานี และอีก 3 สถานี อยู่ระหว่างการขอสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ ปตท.  

SCN อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุน (M&A) กับพันธมิตรอีก 3 ราย  รวมงบลงทุนในปีนี้เป็นจำนวนกว่า 1,350 ล้านบาท

ผู้บริหารจึงคาดว่าในปีนี้ บริษัทฯ จะมีสถานี NGV ที่ดำเนินงานและสามารถรับรู้เป็นรายได้ทั้งหมด 16 สถานี จากปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่ 7 สถานี  

ซีอีโอ “สแกน อินเตอร์” มองการลงทุนปี 2560 เห็นสัญญาณที่ดีของธุรกิจค้าปลีกก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับอุตสาหกรรม หรือ iCNG ที่จะเป็นตัวผลักดันรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากความต้องการใช้ในภาคโลจิสติกส์ และโรงงานอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยบริษัทฯ ประเมินโอกาสราคาน้ำมันจะเพิ่มเป็น 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังจากที่กลุ่มโอเปก ร่วมกันปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 2.1 แสนบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าสถานีบริการน้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทล่าสุด ได้มีมติอนุมัติเงินปันผลสำหรับงวดผลการดำเนินงาน รอบปี 2559 ในอัตราหุ้นละ 0.14 บาท กำหนดหุ้นขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 8 พฤษภาคม ก่อนจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 23 พฤษภาคม 2560

"กลยุทธ์ของเราก็ยังคงเน้นขาย NGV iCNG มากขึ้น ซึ่งปีนี้เราจะเน้นการขยายสถานีบริการ NGV เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเรารับรู้สายได้ 7 สถานี ปีนี้จะมีเพิ่ม 3 สถานีจากสัญญาเดิม และเพิ่มอีก 3 สถานีในสัญญาใหม่ที่เรากำลังขอไปที่ปตท. และยังมีการเจรจาร่วมทุน M&A กับพันธ์มิตรอีก 3 ราย รวมแล้ว 9 สถานี โดยจุดแรกจะเริ่มในช่วงกลางปีนี้ที่จังหวัดสระบุรี ส่วนภาพรวมราคาน้ำมันจะมีผลกับธุรกิจหรือไม่ ต้องบอกว่ายิ่งราคาน้ำมันขึ้นก็มีผลบวกกับเรา อีกทั้งการประกาศลอยตัวก๊าซ ทำให้ NGV ยังเป็นก๊าซที่ราคาถูกที่สุดในตลาดตอนนี้"นายฤทธีกล่าว

WORK

WORK กำไรเฉียด 200 ล. โต32% -ปันผล 0.27บ.



"เวิร์คพอยท์ ' กำไรปี 59 ใกล้แตะ 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% หลังรายได้หลักธุรกิจโทรทัศน์โต 13%  รายการยอดฮิตอันดับหนึ่ง The mask singer ช่วยดันเรทติ้ง พร้อมประกาศปันผลงวดปี 59 หุ้นละ  0.27 บาท

บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK แจ้งผลประกอบการงวด 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีกำไรสุทธิ 198 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.476 บาท เพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อนที่กำไร 150  ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.3622 บาท 

WORK  ชี้แจงว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยหลักจากธุรกิจโทรทัศน์ จากรายได้การขายโฆษณาและโปรโมทในช่วงเวลาต่างๆ และช่องทางสื่อต่างๆ เช่น YouTube โดยมีรายได้จากรายการโทรทัศน์ 2,391 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 13%  ขณะที่ช่อง WORKPOINT มีรายได้ 2,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%

สำหรับรายการที่เพิ่มความนิยมให้ช่อง WORKPOINT ได้แก่ รายการ  The mask singer , ไมค์ หมดหนี้ , Let me in season 2 , I can see your voice Thailand 

ขณะที่รายได้จากการรับจ้างจัดงานและรายได้จากการจัดคอนเสริต์และละครเวทีลดลง โดยมีสาเหตุจากการเลือนจัดงานมาต้นปี 2560 

WORK ยังแจ้งจ่ายปันผลงวดปี 59 ในอัตราหุ้นละ 0.27 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD)  7 มี.ค. 2560 วันที่จ่ายปันผล 03 พ.ค. 2560

หุ้น WORK เช้านี้ปรับขึ้น 2.97% อยู่ที่ 52 บาท จากราคาปิดวานนี้ที่ 50.50 บาท

MGT

MGT เทรดวันแรกเปิดเหนือจอง 45%

บมจ.เมกาเคม (ประเทศไทย) ในชื่อย่อ MGT ผู้ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ เข้าซื้่อขายในตลาด mai วันนี้วันแรก ( 23ก.พ.) เปิดที่ 2.74 บาท เพิ่มขึ้น 0.85  บาท หรือ 44.97% จากราคา IPO ที่ 1.89 บาท 

MGT เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai  กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม โดยมีจำนวนหุ้นเข้าจดทะเบียนจำนวน 400 ล้านหุ้น และหุ้นชำระแล้ว 400 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นทุนชำระแล้ว 200 ล้านบาท โดยมีจำนวนหุ้นเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.89 บาท           

MGT ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ประเภทเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Chemical) สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเคมีภัณฑ์ที่ใช้เป็นส่วนเติม (Additive) ในส่วนประกอบหลักเพื่อทำปฏิกิริยาเคมีให้ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติ หรือคุณลักษณะตามที่ต้องการ โดยจัดจำหน่าย และให้บริการเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ

SAMART

SAMART ร่วงต่อเนื่อง งบปี 59 ถูกฉุดจากกลุ่มธุรกิจมือถือ 




าวะตลาดหุ้นไทย (พุธ 22 ก.พ.) แม้ในช่วงแรกหลังเปิดตลาดจะถูกแรงขายสกัดในหุ้นกลุ่มแบงก์และไอซีที ก่อนมามีแรงซื้อกลับ รวมทั้งถูกหนุนด้วยกลุ่มพลังงานที่บวกตามทิศทางราคาน้ำมัน โดยแรงซื้อยังทยอยเข้าเก็บหุ้นที่เหลือ Upside และมีเงินปันผลที่โดดเด่น ผนวกกับหุ้นที่มีสตอรี่การเติบโตชัดเจนในปีนี้ 

สำหรับเม็ดเงินที่ชะลอการซื้อในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความกังวลภาพเทคนิค SET index กับโอกาสเกิดการพักฐาน หากดัชนีฯ ยังไม่สามารถกลับมายืนเหนือ 1,580 จุดได้อีกครั้ง ซ้ำเติมการขาดปัจจัยบวกใหม่หลังใกล้หมดเทศกาลประกาศงบของบริษัทจดทะเบียน  

SAMART หรือ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศผลประกอบการปี 2559 ปะทุแรงขายอีกระลอก รับผลงานงวดไตรมาส 4/59 พลิกขาดทุน 141 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/59 ที่ยังมีกำไร 10 ล้านบาท และเทียบกับไตรมาส 4/58 ที่มีกำไร 17 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งปี 2559 เหลือกำไรสุทธิ 71 ล้านบาท ลดลงถึง 91%  เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีกำไร 807 ล้านบาท แต่บริษัทฯ ยังอนุมัติปันผลงวดครึ่งปีหลัง 0.08 บาทต่อหุ้น
 
ในส่วนของราคาหุ้น SAMART หากย้อนไปตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. จนถึงปัจจุบัน(ปิดตลาดพุธ 22 ก.พ.) หุ้นร่วงลงแล้วถึง 21% ในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือน 

ผลประกอบการที่อ่อนแอเป็นผลมาจากบริษัทในเครือ คือ “สามารถ ไอ-โมบาย” (SIM) งบไตรมาส 4/59 ขาดทุนหนักถึง 427 ล้านบาท ทำให้ทั้งปี 2559 ขาดทุน 719 ล้านบาท โดยปัจจุบัน SAMART ถือหุ้นในสัดส่วน 70.94%  นอกจากนี้ อีกบริษัทในเครือ คือ “สามารถเทลคอม” (SAMTEL) มีกำไรสุทธิงวดปี 2559 ที่ 184 ล้านบาท ลดลง 54.3% จากงวดปี 2558 จากต้นทุนขายและบริการที่เพิ่มขึ้น 

ส่วนบริษัทในเครืออย่าง “วันทูวัน คอนแทคส์” (OTO) เป็นบริษัทเดียวในกลุ่มฯ ที่มีกำไรเพิ่มขึ้น โดยปี 2559 กำไรขึ้นมาแตะ 83 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 66 ล้านบาท 

บริษัททั้ง 3 แห่ง มีรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 86.97% ของรายได้ทั้งหมดของ SAMART  

นักวิเคราะห์โบรกเกอร์ "เมย์แบงก์ กิมเอ็ง" ชี้ไปยังอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มหดตัวลงแรง เพราะถูกดึงจากกำไรขั้นต้นของ SIM ที่ไปสู่จุดขาดทุนแล้ว และยังอยู่ในช่วงของการพยายามควบคุมต้นทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เพียงพอช่วยชดเชยธุรกิจหลักที่ไหลลงรวดเร็วอย่างมาก ขณะค่าใช้จ่ายทางการเงินก็ยังคงสูง 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังมีความหวังที่จะเห็นภาพในปี 2560 นี้ ธุรกิจจะทยอยฟื้นตัว เนื่องจากภาวะขาดทุนของ SIM ไม่น่าจะรุนแรงเท่าเดิมแล้ว ขณะ SAMTEL ก็ควรจะมีทิศทางการรับงานที่ดีขึ้น แต่การฟื้นตัวอาจไปไม่ได้ไกล เพราะโครงการเกี่ยวกับพลังงานทดแทนยังไม่เกิดอย่างเป็นรูปธรรม และการปรับธุรกิจ SIM ยังไม่ชัดเจน

ล่าสุด “เมย์แบงก์ฯ” ปรับลดราคาพื้นฐาน SAMART ลงเหลือ 13.60 บาท จากเดิมที่ 16.60 บาท พร้อมแนะให้ระมัดระวังความเสี่ยงจากธุรกิจใหม่ที่อาจจะเข้ามาไม่ทันการร่วงลงของธุรกิจ SIM

ส่วนค่าย “ทิสโก้” ออกบทวิเคราะห์ SIM (ราคาเป้าหมาย 0.60 บาท) ระบุมุมมองด้านลบจากผลขาดทุนที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง 5 ไตรมาสติดต่อกัน รวมทั้งยังไม่เห็นการพลิกฟื้นทางธุรกิจ และมีการขาดทุนมากกว่าคาด โดยธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังแข่งขันรุนแรง แม้ว่าบริษัทฯ จะพยายามเข้าสู่ธุรกิจใหม่เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริม และลดการพึ่งพาธุรกิจหลัก ข้อมูลจากโบรกเกอร์ระบุ ล่าสุด SIM ได้เข้าลงทุนในบริษัท ไทยเบสสเตชั่น ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 100%  เงินลงทุน 10 ล้านบาท ซึ่งดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นที่ และบริการอุปกรณ์สื่อสารและระบบโทรคมนาคม แต่มองว่าธุรกิจอื่นๆ ยังไม่สามารถมาทดแทนรายได้ที่หายไปได้

ด้าน “เคจีไอ” ระบุถึงธุรกิจของ SAMTEL (ราคาเป้าหมาย 13.80 บาท) ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2559 ด้วยแนวโน้มดูสดใสมากขึ้นในปีนี้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมเทคโนโลยี พร้อมมองว่า SAMTEL มีศักยภาพรับงานใหญ่จากรัฐวิสาหกิจเ นื่องจากส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของบริษัทฯ อยู่เดิมแล้ว นักวิเคราะห์คาดว่ากำไรสุทธิในปี 2560 จะยังเติบโตได้ถึง 28%

INTUCH

INTUCH คงนโยบายปันผล 100% - คาดผลงานปีนี้ทรงตัวจากปี 59 

CEO ของ INTUCH ยืนยันคงนโยบายจ่ายปันผล 100%  แม้ ADVANC จะปรับลดนโยบายปันผลเหลือ 70% ของกำไรสุทธิ

นายฟิลลิป เชียง ชอง แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “อินทัช โฮลดิ้งส์” (INTUCH) เปิดแถลงข่าวกลยุทธ์ทางธุรกิจปี 2560 ภายใต้แนวคิด "CONNECTING THAIS FOR SUSTAINABLE GROWTH" มุ่งเน้นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นภาคธุรกิจและผู้บริโภค โดยบริหารสินทรัพย์พร้อมกับแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ

CEO กลุ่ม INTUCH บอกว่าปีนี้ถือเป็นปีของการลงทุนของบริษัทในเครือ โดยเฉพาะ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่ปรับลดนโยบายปันผลเหลือเป็นไม่ต่ำกว่า 70%ของกำไรสุทธิ จากเดิมปันผล 100% ของกำไรสุทธิ  แม้ว่าจะกระทบให้รายได้จากเงินปันผลลดลง แต่พร้อมให้การสนับสนุน เพราะ ADVANC มีความจำเป็นต้องลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม ดังนั้น จึงต้องเตรียมพร้อมกระแสเงินสดไว้เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจในอนาคต แต่ทางบริษัทฯ ยืนยันว่าจะคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตรา 100% ของกำไรสุทธิเช่นเดิม เพราะยังไม่มีความจำเป็นใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ขณะที่บริษัทในเครือยังมีความสามารถระดมทุนได้ด้วยตัวเอง
ปัจจุบัน INTUCH มีกระแสเงินสดอยู่ราว 1,700 ล้านบาท
สำหรับทิศทางรายได้ในปีนี้ ผู้บริหารคาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ทำได้ 2.86 หมื่นล้านบาท เพราะบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เผชิญปัญหาจากการยกเลิกสัญญาเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมของ CTH และ GMM-B รวมถึงการยกเลิกบางส่วนของทีโอที ซึ่งกระทบต่อรายได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาลูกค้าแถบอาเซียนเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเจรจาภาครัฐสร้างดาวเทียมไทยคม 9 โดยจะหารือกับ "กสท โทรนาคม" เพื่อเป็นพันธมิตรร่วมลงทุน
ด้านผลประกอบการ ADVANC คาดว่ารายได้จะเติบโต 4-5% จากปีก่อน ตามปริมาณการใช้ข้อมูล (DATA) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและแผนขยายธุรกิจ Fixed Broadband

CEO ของ INTUCH บอกว่า สำหรับธุรกิจกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) ได้ตั้งงบลงทุน จำนวน 200 ล้านบาทต่อปี ลงทุนในบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีมีเดีย ที่เกื้อหนุนกับธุรกิจหลักของกลุ่ม พร้อมคาดผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 20%

INTUCH เตรียมเดินสายร่วมกับ บล.เครดิตสวิส เพื่อนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ที่ฮ่องกง ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-1 มี.ค.นี้ และร่วมกับ บล.ธนชาต โรดโชว์ยุโรป ระหว่างวันที่ 13-17 มี.ค.  ปัจจุบัน นักลงทุนต่างประเทศถือหุ้น INTUCH ในสัดส่วนราว 45%
เปิดแผนธุรกิจ ด้วย Key Word: TMT คือเป้าหมายหลักทั้งลงทุน และสร้างเอง
TMT หรือ Technology, Media และ Telecommunication คือกลุ่มธุรกิจที่ Intouch จะเข้าไปลงทุน รวมถึงสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาเองด้วย เพราะการไปลงทุนนอกอุตสาหรรมดังกล่าว เช่น พลังงาน และอาหาร ต่างมีคู่แข่งค่อนข้างเยอะ และพวกเขามีความเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้มากกว่า โดยปี 2559 บริษัทมีการลงทุน Startup ทั้งหมด 2 รายคือ Wongnai และ Social Nation พร้อมกับถอนการลงทุนจาก Startup 2 รายเช่นกัน แต่การถอนทุนนั้นสามารถขายได้กำไรถึง 20% นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาการลงทุนกับ Startup อีก 2 รายด้วย

ในทางกลับกันฝั่งธุรกิจรายได้หลักอย่าง AIS ก็ไม่ได้ย่ำอยู่กับที่แค่การให้บริการโทรคมนาคม แต่ยังพัฒนาโครงข่ายทั้งมีสาย และไร้สายให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เช่นการรับส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยความเร็ว 1 Gbps รวมถึงเปิดเทคโนโลยี NB-IoT เป็นที่แรกของอาเซียน และฝั่งไทยคม ก็เตรียมทำตลาดดาวเทียมในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น รวมถึงเพิ่มดีกรีการทำตลาดในทวีปแอฟริกา และออสเตรเลีย รวมถึงเปิดตลาดบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่ใช้บนเครื่องบิน และเรือเช่นกัน

AU

อาฟเตอร์ยู ปีนี้เริ่มเปิดสาขาหัวเมืองต่างจังหวัด

อาฟเตอร์ยู หรือ AU ตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 30% หลังปี 59 ทำกำไรเพิ่มขึ้น 72%  พร้อมเผยแผนปีนี้เตรียมเปิดสาขาหัวเมืองต่างจังหวัดครั้งแรก

นายแม่ทัพ ต.สุวรรณ กรรมการผู้จัดการบมจ. อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU  กล่าวว่า แผนธุรกิจในปี 2560 ตั้งเป้ารายได้รวมเติบโต 30% โดยจะขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นอีก 6-7 สาขาให้มีความครอบคลุมมากขึ้น  จากสิ้นปี 2559 มีทั้งหมด 20 สาขา แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 5-6 สาขา

AU วางแผนเปิดให้บริการร้านอาฟเตอร์ ยู สาขาอิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้ในเดือนเมษายนนี้ และจะลงทุนเปิดร้านอาฟเตอร์ ยู ในหัวเมืองต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก 1 สาขา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาทำเลที่เหมาะสม พร้อมมีแผนพัฒนาเมนูขนมหวานอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงแผนขยายธุรกิจการรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ในช่วงครึ่งปีหลัง   

ด้านผลการดำเนินงานปี 2559 เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยทำรายได้ 606 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% และกำไรสุทธิ 99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลการดำเนินงานที่เติบโตได้ดีทั้งในแง่ของผลรายได้และกำไรนั้น มาจากการรุกขยายสาขาร้านอาฟเตอร์ ยู ที่ต่อเนื่องและการพัฒนาเมนูใหม่ๆ เพื่อผลักดันยอดขายต่อสาขาเพิ่มขึ้น

“แม้ธุรกิจร้านขนมหวานมีการแข่งขันสูง แต่เรายังรักษาการเติบโตที่ดี จากการลงทุนขยายสาขาและคิดค้นพัฒนาเมนูใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพสินค้าและบริการที่ดี จึงสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ได้ตามแผนที่วางไว้” นายแม่ทัพกล่าว

AOT

AOT ตั้งงบขยาย 6 สนามบิน ระยะ 10ปี วงเงิน 2.2แสนลบ.

บอร์ด AOT อนุมัติแผนขยาย 6 ท่าอากาศยานระยะ 10 ปี(59-68) ใช้งบลงทุน 2.2  แสนล้านบาท พร้อมรองรับผู้โดยสาร 200 ล้านคน

คณะกรรมการบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานภูเก็ต ในช่วง 10 ปี ช่วงงบประมาณปี 59-68 ซึ่งเป็นแผนระยะกลาง และใช้งบลงทุนรวม 2.2 แสนล้านบาท 

หลังจากนี้ทอท.จะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)  
          
แผนการขยายท่าอากาศยานดังกล่าวจะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 200 ล้านคน จากสิ้นปี 58 รองรับได้ 83.5 ล้านคน และในปี 59 รองรับได้เพิ่มอีก 21 ล้านคน จากการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งทอท.ได้ดำเนินการตามแผนนี้ไปก่อนบางส่วนแล้ว
          
ส่วนแผนระยะยาว ระยะเวลา 20 ปี ช่วงปี 59-78 กำหนดกรอบวงเงินรวมประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยจะเพิ่มงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ และอาคารแซทเทิลไลท์ รวมวงเงิน 2 แสนล้านบาท ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 

ตามแผนจะเริ่มดำเนินการหลังปี 68 โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 40 ล้านคน

MGT

MGT เข้าเทรดตลาด mai พรุ่งนี้



บมจ.เมกาเคม (ประเทศไทย) ในชื่อย่อ MGT ผู้ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ จะเข้าซื้่อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai พรุ่งนี้ ( 23ก.พ.) เป็นวันแรกในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม

MGT  มีจำนวนหุ้นเข้าจดทะเบียนจำนวน 400 ล้านหุ้น และหุ้นชำระแล้ว 400 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นทุนชำระแล้ว 200 ล้านบาท โดยมีจำนวนหุ้นเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.89 บาท           

MONO

MONO ขาย PP เพิ่มทุน 334 ล้านหุ้น-ปันผล 0.03บ.

MONO เพิ่มทุน 334 ล้านหุ้น จัดสรรขาย PP ระดมทุนเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน รองรับลงทุนในธุรกิจเพิ่ม ขณะที่ปี 59 ขาดทุนลดลงเกือบ 50% พร้อมประกาศปันผลหุ้นละ 0.03 บาท

บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO) แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวานนี้ (21 ก.พ.) ให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 519.70 ล้านบาท จากเดิมที่ 486.30 ล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 334 ล้านหุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 0.10 บาท โดยเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ในราคาไม่ต่ำกว่า 90% ของราคาตลาดถัวเฉลี่ยของหุ้น 
         
MONO ระบุว่า การเพิ่มทุนเพื่อให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจปกติและขยายธุรกิจ ส่งเสริมสภาพคล่อง และโครงสร้างเงินลงทุนที่เหมาะสมของบริษัท ซึ่งคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
          
รวมทั้งรองรับการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่องกับธุรกิจทีวีดิจิตอล ช่องทีวีดาวเทียม ระบบสมาชิกดูหนังออนไลน์ ของบริษัท ช่วยส่งเสริมให้บริษัทนำเสนอบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจรยิ่งขึ้น เพื่อความสามารถในการทำกำไรและการจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในอนาคต

ผลการดำเนินงานของ MONO ในปี 2559 ขาดทุนสุทธิจํานวน 249.55 ล้านบาท  ขาดทุนลดลง 48.71%  จากปี 2558 ซึ่งขาดทุนสุทธิ 486.57 ล้านบาท 

ในปี 2559 มีรายได้รวมจํานวน 2,112.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.74% จากปี 2558 ซึ่งมีรายได้รวม 1,925.14 ล้านบาท  โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการให้บริการสื่อโฆษณา

MONO แจ้งปันผลปี 59 โดยระบุว่า ใช้เงินหลักจากกำไรสุทธิส่วนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน BOI  ในอัตรารวมหุ้นละ 0.03 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD)  6 มี.ค. 2560 วันที่จ่ายปันผล 25 พ.ค. 2560

BANPU

ราคาถ่านหินพุ่งหลังจีนห้ามนำเข้าจากเกาหลีเหนือ

โรงผลิตเหล็กเส้นและผู้ค้าเหล็กในจีนดิ้นรนวิ่งหาซื้อถ่านหินโค๊กที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตาหกรรมเหล็ก หลังจากที่รัฐบาลจีนทำให้ตลาดแปลกใจโดยสั่งห้ามนำเข้าถ่านหินจากเกาหลีเหนือ 

ราคาเหล็กและถ่านหินโค้กในจีน ได้กระโดดขึ้นแรง เนื่องจากพ่อค้าและนักวิเคราะห์คาดว่าโรงถลุงเหล็กต่างๆในจีนคงจะถูกบังคับให้ต้องซื้อถ่านหินโค๊กในราคาที่แพงขึ้น หรือหันไปนำเข้าจากแหล่งเชื้อเพลิงชนิดนี้ที่อยู่ห่างไกลออกไป เช่นรัสเซียหรือออสเตรเลีย ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนของตน 

ถึงแม้เกาหลีเหนือจะเป็นแหล่งป้อนเชื้อเพลิงถ่านหินให้กับจีนในสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณนำเข้าทั้งหมด แต่เกาหลีเหนือเป็นผู้ขายรายใหญ่ของถ่านหินคุณภาพสูงชื่อแอนตราไซท์ ซึ่งนำไปผลิตเชื้อเพลิงโค๊ก ที่เป็นพลังงานสำคัญสำหรับการผลิตเหล็ก  

ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโรงผลิตเหล็กเส้นแห่งหนึ่งในจังหวัดเหลี่ยวหนิงทางภาคเหนือของจีน กล่าวว่า ข่าวเรื่องการห้ามนำเข้าของจีนทำให้ตลาดแปลกใจไปตามๆกัน และเขากำลังพิจารณาหาทางเลือกอย่างอื่น 

ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อคนนี้ ซึ่งต้องนำเข้าแอนตราไซท์จากเกาหลีเหนือเดือนละ 10,000 ตัน กล่าวว่าทางเลือกสำหรับเขาคือการซื้อถ่านหินโค๊กจากจังหวัดชานสี หรือจากผู้ขายท้องถิ่นในราคาที่แพงขึ้น 

การทำธุรกิจกับเกาหลีเหนือมีความลำบากยุ่งยากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมาเพราะปัญหาการคว่ำบาตรต่อแระเทศนี้ โดยธุรกิจซื้อขายถ่านหินซึ่งครั้งหนึ่งเคยคึกคักมาก ได้ซบเซาลงจนเหลือแต่พ่อค้าเอกชนเพียงไม่กี่รายที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ 

แต่โรงถลุงเหล็กและบริษัทพ่อค้าส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าการสั่งห้ามนำเข้าของจีนจะทำให้การซื้อขายถ่านหินจากเกาหลีเหนือต้องหยุดชะงักลงทั้งหมดโดยสิ้นเชิง 

การตัดสินใจของจีนมีขึ้นเพียง 1 สัปดาห์หลังจากที่เกาหลีเหนือทดลองยิงจรวจนำวิถีวิสัยกลางขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งเป็นการท้าทายประชาคมโลกโดยตรงเป็นครั้งแรก หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.  

จีนได้ซื้อถ่านหินแอนตราไซท์รวม 22.48 ล้านตันจากเกาหลีเหนือในปี 2016  หรือเท่ากับ 85% ของการนำเข้าทั้งหมด โรงถลุงเหล็กส่วนใหญ่ในจีนมักจะนำแอนตราไซท์มาผสมกับถ่านหินโค๊ก เพื่อผลิตเชื้อเพลิงโค๊กที่ใช้กับเตาเผาในโรงถลุงเหล็ก เนื่องจากราคาที่ถูกกว่า 

ราคาเหล็กเส้นกลมในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของจีน พุ่งขึ้น 2.6% ในบ่ายวันจันทร์ ในขณะที่ราคาของเชื้อเพลิงโค๊กและของถ่านหินโค๊กทะยานขึ้น 2.4-2.6% 

ส่วนราคาหุ้นของ Yangquan Coal Industry ผู้ผลิตแอนตราไซท์ กระโดดขึ้น 2.8% 

จาง หมิน นักวิเคราะห์ของ Sublime Information Group ในจังหวัด Shandong กล่าวว่าราคาเส้นเหล็กกลมกระโดดขึ้นตามคาดการณ์ของตลาดว่าการห้ามนำเข้าแอนตราไซท์จากเกาหลีเหนือ จะทำให้ต้นทุนของโรงงานผลิตเหล็กสูงขึ้น เนื่องจากต้องดิ้นรนหาเชื้อเพลิงอย่างอื่นที่ถูกกว่าในประเทศ