วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

MALEE

MALEE เล็งฐานตลาดต่างประเทศหนุนยอดขาย โบรกฯ คาด ROE สูงเกิน 30%




SET index ส่งท้ายเดือนก.พ. และวันสุดท้ายของการประกาศผลประกอบการงวดปี 2559  ของบริษัทจดทะเบียนไทย ดัชนีฯ แกว่งตัวในกรอบแคบ พอร์ตนักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิต่อเนื่องอีก 1,104 ล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนสถาบันที่ซื้อสุทธิ 1,181 ล้านบาท

ในภาวะตลาดที่ขาดปัจจัยหนุนชัดเจน ยังมีการเก็งกำไรหุ้นที่กำลังมีข่าวดี และ/หรือ มีปัจจัยทางเทคนิคระยะสั้นเข้าสนับสนุน ซึ่งรวมถึงหุ้น “มาลีกรุ๊ป”  (MALEE) ล่าสุด ผู้บริหารมางาน Opportunity Day เพื่อพบปะนักลงทุนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะบริษัทฯ เตรียมกำหนดวันแตกพาร์อย่างเป็นทางการ หลังบอร์ดอนุมัติเปลี่ยนแปลงพาร์จากเดิมหุ้นละ 1 บาท เป็นหุ้นละ 0.50 บาท ซึ่งจะทำให้จำนวนหุ้น เพิ่มจาก 140 ล้านหุ้น เป็น 280 ล้านหุ้น

“ไพฑูรย์ เอี่ยมศิริกุลมิตร” เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารงานกลาง MALEE ได้ตอกย้ำถึงทิศทางยอดขายปี 2560 จะเติบโต 10-15% โดยมาจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยกลยุทธ์ 3 ปี (2559-61) จะเน้นเพิ่มสัดส่วนส่งออกขึ้นมาเป็น 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 39%

แผนดังกล่าวใช้เงินลงทุน 1.5 พันล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุนเพื่อเพิ่มความสามารถทำกำไรให้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 คาดหวังอัตรากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% จากสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 8.06% ส่วนยอดขายปี 2561 คาดจะเพิ่มขึ้นแตะ 1 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 2559 ที่ทำได้ 6.57 พันล้านบาท 

สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศฟิลิปปินส์ ผู้บริหารคาดว่าจะสามารถหยุดขาดทุน (Break-even) ได้ภายในปี 2562 หลังจากที่ได้ทำการตลาดใหม่ และธุรกิจเริ่มมีผลการดำเนินงานดีขึ้น ซึ่งการทำตลาดในฟิลิปปินส์จะยังคงใช้ความระมัดระวังมากขึ้น หลังจากที่ออกสินค้ากาแฟแล้วมีการแข่งขันสูงมาก

MALEE ยังอยู่ระหว่างศึกษาการร่วมทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

ด้านมุมมองโบรกเกอร์ เริ่มจาก "ซีไอเอ็มบี" นักวิเคราะห์ระบุว่า กำไรในไตรมาส 4 ที่ประกาศออกมาถือว่าเติบโตตามคาด แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากฤดูกาล และช่วงไว้อาลัย โดยยังให้มุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการส่งออกของบริษัทฯ โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมะพร้าว รวมทั้งยังมีปัจจัยบวกจาก สินค้าใหม่จากบริษัทร่วมทุน 2 แห่ง นักวิเคราะห์ให้ราคาเป้าหมาย 137 บาท

ส่วน “ทิสโก้” ให้ราคาเป้าหมาย 140 บาท ประมาณการปี 2560-61 ยอดขายเติบโตเฉลี่ยปีละ 16% อยู่ที่ 7,664 ล้านบาท และ 8,839 ล้านบาท ตามลำดับ นักวิเคราะห์คาดยอดขายในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9% จากการออกสินค้าเพิ่มรสชาติใหม่ทุกปี และจากยอดส่งออกจะเติบโต 20% ต่อเนื่องจากน้ำมะพร้าวที่กำลังเติบโตเป็นที่นิยมในยุโรปและอเมริกา

สำหรับยอดขายที่ฟิลิปปินส์ คาดว่าเพิ่มขึ้นจากแผนเปิดตัวสินค้าใหม่อีก 2 ผลิตภัณฑ์ โบรกเกอร์รายนี้คาดกำไรสุทธิในปี2560-61 เติบโตเฉลี่ยปีละ 21% มีมุมมองบวกต่อหุ้นเนื่องจากแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดแถบเอเชียเพิ่มขึ้น รวมถึงโอกาสจับมือพันธมิตรและลูกค้ารับจ้างผลิตต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น MALEE ยังมีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ในปีนี้ที่สูงถึง 37% มากกว่ากลุ่มเครื่องดื่มเฉลี่ยที่อยู่ 24% 

ด้านโบรกเกอร์ “เออีซี” มองการประกาศแตกพาร์จากเดิมหุ้นละ 1.00 บาท เป็น 0.50 บาท แม้จะไม่กระทบต่อพื้นฐานแต่การมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขาย แต่ MALEE มี “Downside Risk” ในแง่การเติบโตระยะยาว เพราะความไม่มั่นคงของลูกค้าในกลุ่มรับจ้างผลิต ขณะราคาหุ้นปัจจุบันไม่เหลือ “Upside” จากมูลค่าพื้นฐานปี 2560 ที่ 87.25 บาท (คำนวณวิธี DCF) ซึ่งหลังแตกพาร์ นักวิเคราะห์คาดมูลค่าพื้นฐานจะปรับลดลงเป็น 43.50 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น