ถัดจาก CPALL ก็มาถึงคิวบริษัทแม่อย่าง CPF หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่โบรกเกอร์คาดว่าจะรายงานผลประกอบการงวดปี 2559 ในวันศุกร์ 24 ก.พ.นี้ กับความคาดหวังตัวเลขกำไรสุทธิที่ 14,906 ล้านบาท ตามผลสำรวจนักวิเคราะห์ในฐานข้อมูล “ธอมป์สัน รอยเตอร์” จากปี 2558 ที่กำไร 11,059 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 34% พร้อมความคาดหวังของนักวิเคราะห์ที่ส่วนใหญ่ยังมองไปทางด้านบวกต่อแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
ผลสำรวจนักวิเคราะห์คาดงวด 4Q/59 กำไรสุทธิของ CPF จะออกมาที่ 2,248 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,548 ล้านบาท ในงวดเดียวกันปีก่อนหน้า
โบรกเกอร์ “บัวหลวง” ระบุ CPF ยังคงเป็นหุ้นที่ชอบมากที่สุดในกลุ่มอาหาร โดยประเมินว่ากำไรสุทธิงวดไตรมาส 4/59 จะอยู่ที่ 2.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% Y/Y แต่ลดลง 58% Q/Q ซึ่งถ้าไม่รวมรายการอัตราแลกเปลี่ยนและรายการพิเศษอื่นๆ คาดว่ากำไรหลักจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.69 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 526% Y/Y แต่ลดลง 66% Q/Q
โดยกำไรหลักที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด Y/Y เนื่องจากธุรกิจกุ้งไทยที่พลิกฟื้นกลับมาเป็นกำไร 300 ล้านบาทจากเคยขาดทุน 87 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน และมาจากผลขาดทุนในประเทศตุรกีที่ลดลง ถึงแม้ว่าอัตรากำไรของธุรกิจเนื้อสัตว์บกในไทยจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากราคาเนื้อสัตว์บกที่ปรับตัวลดลงก็ตาม
ส่วนกำไรที่ลดลงเทียบไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากช่วงโลว์ซีซั่นของไตรมาส 4 จึงเป็นประเด็นที่ไม่น่ากังวล
“บัวหลวง” คาดแนวโน้มยอดขาย CPF ในปีนี้ จะถูกผลักดันจากการเติบโตของปริมาณยอดขาย มากกว่าราคาขายที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าภาวะการบริโภคเนื้อสัตว์และราคาเนื้อสัตว์ในประเทศยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนตัวลง แต่ด้วยภาวะที่ต้นทุนวัตถุดิบซึ่งทรงตัวในระดับต่ำจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนมาร์จิ้นของธุรกิจ
นักวิเคราะห์ระบุด้วยว่าการคาดการณ์ยังคงไม่คำนวณรวมการเข้าซื้อกิจการของ “Bellisio Foods” ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารแช่แข็งรายใหญ่ของสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว เข้ามาในงวดปี 2560 ซึ่งเชื่อว่าจะสร้าง upside และเป็นก้าวสำคัญครั้งใหญ่สำหรับ CPF สำหรับการเจาะตลาดในประเทศสหรัฐฯ
“บัวหลวง” ปัจจุบันให้ราคาพื้นฐาน CPF ที่ 41 บาท
ด้าน "เคทีบี(ประเทศไทย)" นักวิเคราะห์คาดว่า CPF จะมีกำไรสุทธิในงวดไตรมาส 4/59 ที่ 2.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% แต่ลดลง 44% จากไตรมาสก่อนตามผลของฤดูกาล ซึ่งการฟื้นตัวเป็นผลจากธุรกิจกุ้งที่ยังสร้างการเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปี 2559 คาดกำไรสุทธิจะแตะ 1.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% จากปีก่อนที่ทำได้ 1.1 หมื่นล้านบาท
ปัจจุบัน CPF เริ่มเบนแนวทางการเติบโตมาใช้การเข้าซื้อกิจการเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถเข้าถึงตลาดได้ทันที ได้เทคโนโลยีและความรู้ในการบริหารกิจการ และสามารถสร้าง synergy ระหว่างกลุ่มได้ในระยะยาว
โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เริ่มรุกตลาดอาหารแช่แข็งในสหรัฐฯ ผ่านการเข้าซื้อ Bellisio และตลาดไก่ในยุโรปผ่านการลงทุนใน SuperDrop โดยมองการเข้าซื้อกิจการเป็นบวกและจะเริ่มเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักในการผลักดันการเติบโตของ CPF ในอนาคต หลังจากที่บริษัทฯ เผชิญกับแรงกดดันของการลงทุนในประเทศที่ไม่เคยลงทุนมาก่อน ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างแบรนด์
นักวิเคราะห์มองราคาสัตว์บกอ่อนตัว เป็นไปตามที่ตลาดคาดอยู่แล้ว ขณะที่ยังมองข้ามไปถึงผล Synergy ที่จะเกิดขึ้นจากดีลการเข้าซื้อกิจการ Bellisio ส่วนธุรกิจกุ้งของบริษัทฯ ก็มีความสามารถในการแข่งขันที่สูง
“เคทีบี (ประเทศไทย)” ประเมินราคาเหมาะสม CPF ที่ 37 บาท
ส่วนโบรกเกอร์ค่าย “ฟิลลิป” ที่ให้ราคาพื้นฐาน CPF 33 บาท นักวิเคราะห์คาดแนวโน้มการดำเนินงานปี 2560 จะถูกผลักดันการเติบโตจากธุรกิจใหม่ที่ซื้อมาในปีก่อนหน้า ขณะที่ธุรกิจในประเทศคาดว่ากุ้งยังมีการเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มไก่คาดว่าจะได้ผลบวกจากประเทศคู่ค้าอนุญาตนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย ส่วนการดำเนินงานจากธุรกิจในต่างประเทศอื่น ๆ ที่มีอยู่ คาดว่าผลการดำเนินงานจะดีขึ้นโดยเฉพาะตุรกี เนื่องจากผลของการปรับลดขนาดธุรกิจลง ขณะที่แนวโน้มราคาเนื้อสัตว์คาดจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่นเดียวกับต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
“ฟิลลิป” ประมาณการยอดขายปี 2560 ของ CPF จะเพิ่มขึ้น 12% มาที่ 521,331 ล้านบาท มองแนวโน้มมาร์จิ้นอ่อนตัวลงเล็กน้อย ส่วนดอกเบี้ยจ่ายจะเพิ่มขึ้นจากเงินกู้ที่มากขึ้นตามการซื้อธุรกิจใหม่ที่ค่อนข้างมากในปีก่อนหน้า พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิอยู่ที่ 14,263 ล้านบาท ลดลง 7%
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น