ตลาดหุ้นไทยวันพุธ 15 ก.พ. ผันผวนพอสมควร การซื้อขายระหว่างวันดัชนี SET ร่วงลงไปแตะ 1,560 จุด ก่อนมีแรงไล่ซื้อกลับมาในช่วง 1 ชั่วโมงก่อนปิดตลาด กลับมายืนปิดเขียวได้เล็กน้อย ด้วยวอลุ่มเทรดทั้งวัน 6.6 หมื่นล้านบาท ต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิราว 2.5 พันล้านบาท ส่วนนักลงทุนทั่วไป ซื้อสุทธิ 3.6 พันล้านบาท ขณะแนวโน้มยอดการซื้อรวมยังเพิ่มขึ้นทั้งคู่
“ดาวเด่น” วอลุ่มเทรดคือ AOT ที่ยอดซื้อขายรวมทั้งวันพุ่งไปขึ้นไปถึง 1.1 หมื่นล้านบาท แซงอันดับสองคือ ปตท.(PTT) ที่ยอดเทรดอยู่ที่ 4.1 พันล้านเท่านั้น
ราคาหุ้น AOT ลดลงต่อเนื่องหลังจากเทรดพาร์ใหม่ 1 บาทตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ล่าสุด มาหุ้นถูกฉุดจากกรณีมีรายงานข่าวว่ากรมธนารักษ์เตรียมปรับราคาค่าเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ให้สอดคล้องกับราคาประเมินที่ดินใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนสนามบิน
"ที่ดินราชพัสดุ เป็นผู้ให้สัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิเป็นระยะเวลา 30 ปี มาตั้งแต่ปี 2545 ขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนจากการใช้ที่ดินเมื่อครบอายุสัญญา 10 ปี โดยเพิ่มค่าเช่าจากเดิมเก็บจากส่วนแบ่งรายได้ 5% เปลี่ยนเป็นเก็บจากส่วนแบ่งรายได้ 5% และเก็บเพิ่มจากมูลค่าสินทรัพย์อีก 5% แต่ยังคงมีความไม่ชัดเจนในเรื่องวันเริ่มต้นนับอายุสัญญา นั่นคือ ทิ่ดินราชพัสดุเริ่มนับจากปี 2545 ขณะที่ AOT เริ่มนับตั้งแต่เปิดสนามบินสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2549 ส่งผลให้วันที่สัญญาครบอายุ 10 ปีจึงแตกต่างกัน ดังนั้น ถ้ายึดตามที่ราชพัสดุระบุ ก็หมายความว่าได้ครบกำหนดแล้วเมื่อปี 2555 ส่วนในมุมของ AOT จะครบกำหนดในปี 2559 อันเป็นผลให้ที่ดินราชพัสดุทำการเรียกร้องค่าเสียหายย้อนหลังระหว่างปี 2555-59 รวม 2.07 หมื่นล้านบาท"
อย่างไรก็ดี ในช่วงบ่ายมีรายงานจากสื่อถึงความเห็นของนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ AOT ซึ่งได้ออกมาชี้แจงการเก็บค่าเช่าสนามบินสุวรรณภูมิของกรมธนารักษ์ ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยังคงเหมือนเดิมทุกประการ นั่นคือ รูปแบบผลตอบแทนต่อส่วนแบ่งส่วนกำไร (Profit Sharing) ซึ่งเป็นรูปแบบเหมือนกับสนามบินทั้ง 5 แห่งของ AOT
โดยปัจจุบัน สนามบินสุวรรณภูมิจ่ายค่าเช่าปีละ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งถ้าหากมีการปรับอัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้นจากกรมธนารักษ์ ค่าเช่าใหม่ก็จะไม่เกิน 1.6 พันล้านบาทต่อปี
บริษัทฯ ยังได้ทำการหารือกับกรมธนารักษ์ จะใช้ที่ว่างเปล่าที่เหลืออยู่หลายพันไร่ของสนามบินสุวรรณภูมิ มาสร้างโรงพยาบาล หรือห้างสรรพสินค้าในอนาคต ซึ่งประเด็นนี้ ทางกรมธนารักษ์ก็จะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมเข้ามา จากวิธีแบบ Profit Sharing ขณะที่ AOT ก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยสรุปแล้ว ค่าเช่าที่ของ AOT จะปรับเพิ่มขึ้นเพียงแค่ปีละ 100 ล้านบาทเท่านั้น
แม้ว่าประเด็นนี้จะสร้างความกังวลระยะสั้นต่อหุ้น AOT แต่ท่าทีของนักวิเคราะห์หลายสำนักยังพบว่ามีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
นักวิเคราะห์ “ทิสโก้” ยังแนะนำ“ซื้อ” (มูลค่าเหมาะสม 45 บาท) เพราะเชื่อว่า AOT จะยังสามารถเจรจาได้และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการขึ้นค่าเช่า แต่ไม่มีผลย้อนหลัง หรือคิดเป็นผลกระทบ 5.6 พันล้านบาท หรือเป็นมูลค่าหุ้นที่เสียไป 0.40 บาท/หุ้น และ AOT ยังสามารถจ่ายได้ เนื่องจากมีเงินสดและสินทรัพย์สภาพคล่องในมือราว 6.4 หมื่นล้านบาท
ด้านโบรกเกอร์ “ดีบีเอส วิคเคอร์ส” แนะนำ “ซื้อ” (ราคาพื้นฐาน 45.50 บาท) นักวิเคราะห์ระบุแม้ว่าประเด็นค่าเช่าจะกระทบในระยะสั้น แต่คาดการณ์กำไรหลักไตรมาส 2 (งวดเดือนม.ค.-มี.ค.60) จะเร่งตัวขึ้นและสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลได้ประกาศขยายเวลาในการตัดค่าธรรมเนียมการออกวีซ่าสำหรับ 16 ประเทศออกไป 6 เดือน คือ จากเดิมที่จะสิ้นสุดเดือนก.พ. 60 มาเป็นเดือนส.ค. โดยคาดว่าจะเกิดผลดี ช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมายังไทย และ AOT ได้ประโยชน์ต่อไป
-
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น