วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

SAMART

SAMART ร่วงต่อเนื่อง งบปี 59 ถูกฉุดจากกลุ่มธุรกิจมือถือ 




าวะตลาดหุ้นไทย (พุธ 22 ก.พ.) แม้ในช่วงแรกหลังเปิดตลาดจะถูกแรงขายสกัดในหุ้นกลุ่มแบงก์และไอซีที ก่อนมามีแรงซื้อกลับ รวมทั้งถูกหนุนด้วยกลุ่มพลังงานที่บวกตามทิศทางราคาน้ำมัน โดยแรงซื้อยังทยอยเข้าเก็บหุ้นที่เหลือ Upside และมีเงินปันผลที่โดดเด่น ผนวกกับหุ้นที่มีสตอรี่การเติบโตชัดเจนในปีนี้ 

สำหรับเม็ดเงินที่ชะลอการซื้อในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความกังวลภาพเทคนิค SET index กับโอกาสเกิดการพักฐาน หากดัชนีฯ ยังไม่สามารถกลับมายืนเหนือ 1,580 จุดได้อีกครั้ง ซ้ำเติมการขาดปัจจัยบวกใหม่หลังใกล้หมดเทศกาลประกาศงบของบริษัทจดทะเบียน  

SAMART หรือ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศผลประกอบการปี 2559 ปะทุแรงขายอีกระลอก รับผลงานงวดไตรมาส 4/59 พลิกขาดทุน 141 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/59 ที่ยังมีกำไร 10 ล้านบาท และเทียบกับไตรมาส 4/58 ที่มีกำไร 17 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งปี 2559 เหลือกำไรสุทธิ 71 ล้านบาท ลดลงถึง 91%  เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีกำไร 807 ล้านบาท แต่บริษัทฯ ยังอนุมัติปันผลงวดครึ่งปีหลัง 0.08 บาทต่อหุ้น
 
ในส่วนของราคาหุ้น SAMART หากย้อนไปตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. จนถึงปัจจุบัน(ปิดตลาดพุธ 22 ก.พ.) หุ้นร่วงลงแล้วถึง 21% ในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือน 

ผลประกอบการที่อ่อนแอเป็นผลมาจากบริษัทในเครือ คือ “สามารถ ไอ-โมบาย” (SIM) งบไตรมาส 4/59 ขาดทุนหนักถึง 427 ล้านบาท ทำให้ทั้งปี 2559 ขาดทุน 719 ล้านบาท โดยปัจจุบัน SAMART ถือหุ้นในสัดส่วน 70.94%  นอกจากนี้ อีกบริษัทในเครือ คือ “สามารถเทลคอม” (SAMTEL) มีกำไรสุทธิงวดปี 2559 ที่ 184 ล้านบาท ลดลง 54.3% จากงวดปี 2558 จากต้นทุนขายและบริการที่เพิ่มขึ้น 

ส่วนบริษัทในเครืออย่าง “วันทูวัน คอนแทคส์” (OTO) เป็นบริษัทเดียวในกลุ่มฯ ที่มีกำไรเพิ่มขึ้น โดยปี 2559 กำไรขึ้นมาแตะ 83 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 66 ล้านบาท 

บริษัททั้ง 3 แห่ง มีรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 86.97% ของรายได้ทั้งหมดของ SAMART  

นักวิเคราะห์โบรกเกอร์ "เมย์แบงก์ กิมเอ็ง" ชี้ไปยังอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มหดตัวลงแรง เพราะถูกดึงจากกำไรขั้นต้นของ SIM ที่ไปสู่จุดขาดทุนแล้ว และยังอยู่ในช่วงของการพยายามควบคุมต้นทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เพียงพอช่วยชดเชยธุรกิจหลักที่ไหลลงรวดเร็วอย่างมาก ขณะค่าใช้จ่ายทางการเงินก็ยังคงสูง 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังมีความหวังที่จะเห็นภาพในปี 2560 นี้ ธุรกิจจะทยอยฟื้นตัว เนื่องจากภาวะขาดทุนของ SIM ไม่น่าจะรุนแรงเท่าเดิมแล้ว ขณะ SAMTEL ก็ควรจะมีทิศทางการรับงานที่ดีขึ้น แต่การฟื้นตัวอาจไปไม่ได้ไกล เพราะโครงการเกี่ยวกับพลังงานทดแทนยังไม่เกิดอย่างเป็นรูปธรรม และการปรับธุรกิจ SIM ยังไม่ชัดเจน

ล่าสุด “เมย์แบงก์ฯ” ปรับลดราคาพื้นฐาน SAMART ลงเหลือ 13.60 บาท จากเดิมที่ 16.60 บาท พร้อมแนะให้ระมัดระวังความเสี่ยงจากธุรกิจใหม่ที่อาจจะเข้ามาไม่ทันการร่วงลงของธุรกิจ SIM

ส่วนค่าย “ทิสโก้” ออกบทวิเคราะห์ SIM (ราคาเป้าหมาย 0.60 บาท) ระบุมุมมองด้านลบจากผลขาดทุนที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง 5 ไตรมาสติดต่อกัน รวมทั้งยังไม่เห็นการพลิกฟื้นทางธุรกิจ และมีการขาดทุนมากกว่าคาด โดยธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังแข่งขันรุนแรง แม้ว่าบริษัทฯ จะพยายามเข้าสู่ธุรกิจใหม่เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริม และลดการพึ่งพาธุรกิจหลัก ข้อมูลจากโบรกเกอร์ระบุ ล่าสุด SIM ได้เข้าลงทุนในบริษัท ไทยเบสสเตชั่น ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 100%  เงินลงทุน 10 ล้านบาท ซึ่งดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นที่ และบริการอุปกรณ์สื่อสารและระบบโทรคมนาคม แต่มองว่าธุรกิจอื่นๆ ยังไม่สามารถมาทดแทนรายได้ที่หายไปได้

ด้าน “เคจีไอ” ระบุถึงธุรกิจของ SAMTEL (ราคาเป้าหมาย 13.80 บาท) ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2559 ด้วยแนวโน้มดูสดใสมากขึ้นในปีนี้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมเทคโนโลยี พร้อมมองว่า SAMTEL มีศักยภาพรับงานใหญ่จากรัฐวิสาหกิจเ นื่องจากส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของบริษัทฯ อยู่เดิมแล้ว นักวิเคราะห์คาดว่ากำไรสุทธิในปี 2560 จะยังเติบโตได้ถึง 28%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น